เอกชนร้อง ทร. เลื่อนเวลา รับซองประกวดราคาพัฒนา "สนามบินอู่ตะเภา"

08 ก.พ. 2562 | 14:06 น.
ในการเปิดการประชุมชี้แจงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครั้งที่ 2 เพื่อชี้แจงข้อมูลความก้าวหน้าโครงการฯ กระบวนการดำเนินงาน และเกณฑ์การประเมิน รวมทั้งเปิดเวทีให้ผู้ซื้อเอกสารได้ซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนและข้อมูลความก้าวหน้าโครงการฯ โดยมีนักลงทุนที่ซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกองทัพเรือ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนร่วมงานกว่า 150 คน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562

โดยหลังจากเปิดให้เอกชนผู้ซื้อซองเอกสารคัดเลือกได้ซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ ทั้งด้านการลงทุน ร่างสัญญาร่วมลงทุน การก่อสร้าง รวมไปถึงข้อกำหนดในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาพื้นที่ งานโครงสร้าง และเทคโนโลยีต่าง ๆ เอกชนส่วนใหญ่ต่างต้องการให้มีการเลื่อนระยะเวลาในการเปิดรับซองข้อเสนอโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกออกไปอีกราว 1-2 เดือน จากไทม์ไลน์ที่กองทัพเรือวางไว้ว่าจะเปิดให้เอกชนมายื่นซองประกวดราคาในวันที่ 28 ก.พ. นี้


TP11-3280-AB-4

เนื่องจากเอกชนหวั่นว่าจะเตรียมการด้านเอกสารไม่ทัน เนื่องจากมีข้อมูลด้านเอกสารเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้เวลาเตรียมการมาก และเอกชนยังต้องการรอข้อสรุปในเรื่องของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะสัมพันธ์กับการพัฒนาสนามบินในเรื่องของการไหลเวียนของผู้โดยสาร

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และรองรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ โดยภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 กองทัพเรือและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้จัดทำเอกสารเพื่อประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ และเปิดให้เอกชนซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนไปเมื่อเดือน พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา

 

[caption id="attachment_386312" align="aligncenter" width="500"] เอกชนร้อง ทร. เลื่อนเวลา รับซองประกวดราคาพัฒนา "สนามบินอู่ตะเภา" เพิ่มเพื่อน [/caption]

รูปแบบการลงทุนในโครงการฯ จะเป็นแบบ PPP รัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 และหอบังคับการบินหลังที่ 2 ส่วนเอกชนลงทุนส่วนสำคัญ คือ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre : GTC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา (Cargo Village or Free Trade Zone : FTZ) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) เป็นต้น โดยกองทัพเรือให้ระยะเวลาเอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการได้เป็นระยะเวลา 50 ปี

การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการเสริมศักยภาพสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินระดับโลก ซึ่งมีมาตรฐานระดับสูงในด้านความปลอดภัย ความมั่นคง การให้บริการผู้โดยสาร และด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนเป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบินให้กลายเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) และส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต

595959859