"จํานําทะเบียน" หนีเกณฑ์ ธปท. รุกนาโนไฟแนนซ์ - สองล้อมือ 2

10 ก.พ. 2562 | 04:10 น.
ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถร้องจ๊าก! หั่นดอกเบี้ยลงตามเกณฑ์คุมของ ธปท. มีผล ก.พ. นี้ 'กรุ๊ปลีส' รับเฉือนเนื้อไม่เกิน 12 ล้านบาท รุกปรับตัวปล่อยกู้จักรยานยนต์มือ 2 ฟันกำไรส่วนต่างชดเชย ด้าน "ชโย กรุ๊ป" รอใบอนุญาตจ่อปล่อยผ่านนาโน-พิโกไฟแนนซ์

จากกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.พ. นี้ โดยกำหนดเพดานดอกเบี้ย รวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแล้วต้องไม่เกิน 28% ต่อปี

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (MTLS) กล่าวว่า หากทางการสามารถดึงผู้ให้บริการเข้าสู่ระบบได้อย่างถูกต้อง การคิดดอกเบี้ยจะเป็นธรรม ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภค ในส่วนของ MTLS คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 23% และคาดว่า ธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่อยู่นอกระบบทั่วประเทศน่าจะมีไม่น้อยกว่า 3,000 แห่ง

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจค่ายใหญ่อย่าง บมจ.เมืองไทยลิสซิ่ง (MTLS) และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) แม้จะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 23-26% ขณะที่ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) ธุรกิจหลัก คือ สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งคิดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลครอบคลุมค่าปรับ ค่าบริการ หรือ ค่าธรรมเนียม ไม่เกิน 28% ต่อปี และสินเชื่อบัตรเครดิตที่เพดานไม่เกิน 18% ต่อปี แต่เชื่อว่า เกณฑ์คุมเพดานดอกเบี้ยของ ธปท. จะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการที่อยู่นอกระบบไม่ใช่น้อย เพราะที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะทำสัญญากู้ยืมเป็น 2 สัญญา คือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% ทำให้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าจริงสูงถึง 48-65% ต่อปี

นายมุเนะโอะ ทาชิโร่ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.กรุ๊ปลีส หรือ GL กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การที่เพดานดอกเบี้ยลดลงเป็นผลบวกต่อธุรกิจ ทำให้ลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น บริษัทสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ เพราะดอกเบี้ยปรับลงมาใกล้เคียงกัน โดยกรุ๊ปลีสมีพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 250 ล้านบาท หรือเพียง 5% ของพอร์ตรวม 5,000 ล้านบาท (สินเชื่อรถจักรยานยนต์มือ 1 กว่า 4,500 ล้านบาท และมือ 2 อีก 400 ล้านบาท) ผลกระทบจากการที่ ธปท. กำหนดเพดานดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 28% ทำให้บริษัทเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านบาท หรือทั้งปีราว 12 ล้านบาท และกระทบเฉพาะปีแรกเท่านั้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. นี้ ลูกค้ารายใหม่จะยึดตามเกณฑ์ใหม่

 

[caption id="attachment_386443" align="aligncenter" width="503"] มุเนะโอะ ทาชิโร่ มุเนะโอะ ทาชิโร่[/caption]

แผนธุรกิจของกรุ๊ปลีสไม่ได้เร่งยอดสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียนรถอยู่แล้ว แต่จะโฟกัสสินเชื่อรถจักรยานยนต์มือ 2 ตั้งเป้าเติบโต 10% จากพอร์ตสินเชื่อ 400 ล้านบาท เพราะมีดอกเบี้ยรับ หรือ มาร์จิน สูงกว่าเช่าซื้อรถมือ 1 ซึ่งจะมาชดเชยรายได้ส่วนที่หายไป ส่วนผลกระทบต่อตลาดโดยรวมยังไม่ชัดเจนว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่แน่นอนว่า รายที่เคยคิดดอกเบี้ยเกิน 28% ต่อปี ก็ยากที่จะเลี่ยงได้ เพราะเกณฑ์ของ ธปท. ครอบคลุมนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้ทั้งหมด"

ด้าน นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เกณฑ์กำกับที่ออกมาเป็นบวกกับตลาด เพราะเดิมที่ยังไม่มีเงื่อนไขตรงนี้ ตลาดแข่งขันปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ดอกเบี้ย 28% แต่เมื่อลูกค้าผิดนัด ค่าปรับ-ค่าธรรมเนียมบวกดอกเบี้ยก็เกิน 28% แต่พอมีนาโนไฟแนนซ์ก็ปล่อยในดอกเบี้ยใกล้เคียงที่ดอกเบี้ย 28% ขณะที่ พิโกไฟแนนซ์สามารถปล่อยสินเชื่อประเภทเดียวกันนี้ที่เพดานดอกเบี้ย 36% แต่ต่อรายต้องไม่เกิน 5 หมื่นบาท และจำกัดเฉพาะจังหวัดที่ยื่นขอและได้ใบอนุญาต ซึ่ง "ชโย กรุ๊ป" จะไม่หว่าน แต่จะเลือกเฉพาะพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม

"เรารับได้หมดอยู่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ เรายังไม่ได้ปล่อยสินเชื่อ เพราะต้องรอให้ทางการอนุมัติเสียก่อน โดยจะใช้วงเงินปล่อยสินเชื่อปีนี้รวม 100-200 ล้านบาท"

สำหรับเกณฑ์กำกับดูแลที่ ธปท. กำหนดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต Personal Loan ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ตํ่ากว่า 50 ล้านบาท ให้วงเงินสินเชื่อได้ไม่กำหนด เพดานดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 28% ต่อปี ส่วนการขออนุญาตทำธุรกิจต้องยื่นเรื่องมายัง ธปท. ไม่กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อราย ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ผู้ประกอบการที่ให้บริการในจังหวัด หรือ พิโกไฟแนนซ์ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ตํ่ากว่า 5 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย เพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี การขออนุญาตทำธุรกิจต้องยื่นเรื่องมายังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,443 วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2562

595959859