WTO Article 24 อาวุธใหม่ของอังกฤษแก้วิกฤติ Brexit?

09 ก.พ. 2562 | 04:30 น.
การลงมติในสภา ของ UK สร้างความชัดเจนอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ นั่นคือ สภา ยังคงจะผลักดันให้มีการแยกตัว UK ออกจาก EU ต่อไป แต่จะไม่ยอมแยกตัวโดยไม่มีข้อตกลง (with no deal) ส่วนทางเลือกอื่นๆ ที่จะใช้ในการแก้ปัญหานี้ไม่ว่าจะเป็น การขอขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไปจนถึงปลายปี 2020 หรือการให้ประชาชนออกมาลงประชามติเกี่ยวกับเรื่องการแยกตัวใหม่ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา และท่าทีของ EU ก็ชัดเจนว่าจะไม่กลับเข้าสู่วงเจรจากับ UK ในเรื่องนี้อีก

ประกอบกับข้อเสนอเกี่ยวกับข้อตกลงที่ UK จะทำกับ EU หลังการแยกตัวที่ นายกฯเทเรซา เมย์ ได้เสนอต่อสภา ก็แพ้โหวตแบบไม่เป็นท่า หากจะพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่าง UKกับ EU และ UK ไม่ได้ขอขยายระยะเวลา หากครบกำหนดการแยกตัวในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ถึงแม้สภา ของ UK จะมีมติไม่รับการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง ก็ไม่ได้ช่วยทำให้มีข้อตกลงขึ้นมาได้

สุดท้ายจะเป็นการบังคับให้การแยกตัวต้องเป็นไปแบบไม่มีข้อตกลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี

[caption id="attachment_386144" align="aligncenter" width="503"] Jacob Rees-Mogg Jacob Rees-Mogg[/caption]

ปัญหาที่กล่าวข้างต้นนี้เริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากโดยเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองของอังกฤษ โดยมี 2 นักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่าง Jacob Rees-Mogg สมาชิกพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) และ Nigel Farageสมาชิกสภาฯ ยุโรป (Member of the European Parliament: MEP) ซึ่งทั้ง 2 คนเป็น brexiteers (ผู้สนับสนุนให้ UK แยกตัวจาก EU) ได้เสนอว่าจริงๆ แล้วอังกฤษสามารถใช้ Article 24 ของ World Trade Organization (WTO: องค์การการค้าโลก) เพื่อขยายระยะเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่าง UK กับ EU ให้เป็น 0% ต่อไปได้อีก 10 ปี

[caption id="attachment_386145" align="aligncenter" width="503"] Nigel Farage Nigel Farage[/caption]

ซึ่งสื่อของอังกฤษได้เปรียบเทียบข้อเสนอของทั้ง 2 คนนี้ว่า อาจเป็นเสมือนอาวุธลับที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลงกับ EU ได้

บทความนี้จึงมุ่งที่จะวิเคราะห์ว่า Article 24 ของ WTO จะสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธลับช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ Brexit ได้อย่างที่นักการเมืองบางคนกล่าวอ้างหรือไม่?

แต่ก่อนที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้ คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากฎของ WTO เข้ามาเกี่ยวข้องอะไร กับกรณีนี้ด้วย นั่นเพราะหาก UK แยกตัวจาก EU แล้ว กฎหมายการ ค้าระหว่างประเทศที่ UK จะทำกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศสมาชิกใน EU ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศของ WTO เพราะ UK เป็นหนึ่งในสมาชิกของ WTO ด้วย

ซึ่งหนึ่งในกฎเกณฑ์พื้นฐานของ WTO กำหนดว่าหากประเทศหนึ่งจะทำการค้ากับอีกประเทศหนึ่งโดยการกำหนดหรือให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมต้องให้สิทธิเช่นนั้นกับประเทศอื่นด้วย เช่น กรณีนี้ หาก UK ประสงค์จะให้มีการค้ากับประเทศสมาชิกใน EU โดยให้คิดภาษีศุลกากรเป็น 0% (agree free trade deal) นั่นหมายความว่า UK ต้องอนุญาตให้การค้าระหว่าง UK กับประเทศอื่นนอกกลุ่ม EU ต้องได้รับสิทธินี้เช่นกัน เว้นแต่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงกันไว้ตามมาตรา 24 ของ WTO

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง Article 24 มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง General Agreement on and Tariff Trade (GATT) ก่อนที่จะเปลี่ยน มาเป็น International Trade Organization (ITO) ในปี 1948 และสุดท้ายได้เปลี่ยนมาเป็น WTO เมื่อปี 1995 เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียกมาตรานี้ว่าเป็นมาตราของ WTO เลยก็คงไม่ถูกสักทีเดียว

เมื่อวิเคราะห์ข้อกำหนดในมาตรานี้ ใน paragraph ที่ 5 หากประเทศสมาชิกมีความประสงค์จะให้มีการค้าเสรีระหว่างกัน 10 ปี ทั้ง 2 ฝ่ายต้องจัดทำข้อตกลงชั่วคราว (Interim Agreement) และเสนอไปยัง WTO โดยให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นอะไรที่ต้องใช้ข้อตกลงชั่วคราวนี้ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะไม่ใช่เรื่องยากที่ UK และ EU จะทำข้อตกลงในลักษณะนี้

ดังนั้น หากพิจารณาแต่เฉพาะข้อกำหนดในส่วนนี้ ดูเหมือนจะสามารถนำมาใช้ช่วยแก้ปัญหาได้ตามที่กล่าวอ้าง เพราะถึงแม้จะแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลงก็ยังมีช่องทางนี้อยู่

S__33054740

แต่ต้องไม่ลืมว่ามาตรานี้ใน paragraph ที่ 7 ยังได้กำหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกของ WTO จำนวน 164 ประเทศสามารถตั้งข้อเสนอแนะ (Recommendations) เกี่ยวกับข้อตกลงชั่วคราวดังกล่าวเพื่อให้ทั้ง UK และ EU ปฏิบัติตามได้ หากไม่ประสงค์จะปฏิบัติตาม ประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถคัดค้าน (Vito) ข้อตกลงชั่วคราวดังกล่าวนี้ได้ นั่นหมายความว่าความตกลงชั่วคราวทุกข้อนั้นนอกจาก UK และ EU จะตกลงกันได้แล้ว ยังต้อง ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกทั้ง 164 ประเทศอีกด้วย ซึ่งความยากของข้อกำหนดนี้ ทำให้มาตรานี้ไม่เคยมีการใช้เลยนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง WTO

จากการวิเคราะห์ข้อกฎ หมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ความเป็นไปได้ในการใช้ Article 24 เพื่อเป็นเสมือนอาวุธลับในการแก้ปัญหาเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจกรณี Brexit แทบเป็นไปไม่ได้ อย่าง ที่ 2 นักการเมืองนั้นยกขึ้นกล่าวอ้างเลย ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนยังคงเห็นว่า การเจรจาระหว่าง UK กับ EU ในช่วงเวลาอันจำกัดแบบนี้ ไม่น่าจะเป็นผล

ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบจากการแยกตัวในวันที่ 29 มีนาคม ที่จะถึงนี้ รัฐบาลอังกฤษ ควรสร้างความเข้าใจกับสภา เพื่อขอความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการขอขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไปก่อน เพราะอย่างน้อยปัญหาสำคัญนี้จะได้มีการขยายเวลาออกไปกว่า 20 เดือน ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบันศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3443 ระหว่างวันที่ 10 - 13 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว