ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากความกังวลต่อคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันลดลง

08 ก.พ. 2562 | 03:54 น.
ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากความกังวลต่อคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันลดลง

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ. รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน 8 กุมภาพันธ์ 2562

- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลง 2% หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่คาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไป และความกังวลหลังจากที่จีนประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2561 อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งนักลงทุนมองว่าจะส่งผลให้ในปี 2563 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกและความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง
- ตลาดยังคงจับตามองอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันดิบน้อยลง
+ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปก รวมถึงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านและเวเนซุเอลาที่ปรับตัวลดลงหลังจากถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร โดยซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกได้ปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ม.ค. 62 ลงมาอยู่ที่ระดับ 10.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าเดือน ธ.ค. 61 ที่ระดับ 10.643 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคค่อนข้างซบเซาในช่วงระหว่างวันหยุดเทศกาลตรุษจีน ขณะที่อุปทานน้ำมันเบนซินจากญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์น้ำมันดีเซลในภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงอุปทานที่ปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59-64  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การตกลงปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น โดยล่าสุด ซาอุดิอาระเบียจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงเพิ่มเติมอีกราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับการผลิตในเดือนม.ค. 62 สู่ระดับ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าที่ได้ตกลงไว้

จับตาการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้รัฐบาลมาดูโรออกจากตำแหน่ง โดยการคว่ำบาตรนี้อาจส่งผลให้เวเนซุเอลาต้องเปลี่ยนทิศทางการส่งออกน้ำมันดิบราว 500,000 บาร์เรลต่อวันไปยังประเทศอื่นๆแทนสหรัฐฯ

จับตาความคืบหน้าการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก่อนถึงเส้นตายในเดือน มี.ค. 62 ซึ่งหากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนกำหนดดังกล่าว จะส่งผลให้สหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 และคาดว่าจีนจะทำการตอบโต้คืนโดยการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเช่นเดียวกัน

ที่มา : บมจ.ไทยออยล์ 090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503