3หน่วยงานประกาศชัด อีสท์เทิร์น ซีบอร์ด ไม่ขาดน้ำ

16 มี.ค. 2559 | 07:42 น.
_MG_4319     อีสท์ วอเตอร์  โชว์ระบบบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ด้วยระบบ SCADA   ยันพร้อมรับมือภัยแล้ง  ร่วมกับโครงการชลประทานระยอง  และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย   สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด   พร้อมลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก  และโครงการก่อสร้าง  มั่นใจ อีสท์เทิร์น ซีบอร์ด  พ้นวิกฤติแล้งแน่นอน

จากสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ  ส่งผลให้หลายภาคส่วนเริ่มเป็นกังวลถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก  อันเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ  หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องน้ำในภูมิภาคแห่งนี้ อย่าง กรมชลประทาน  และ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)  หรือ อีสท์ วอเตอร์  จึงได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  ชี้แจงความพร้อมในการรับมือภัยแล้งครั้งนี้  โดยเปิดเผยแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งและมาตรการป้องกันปัญหากรณีเกิดวิกฤตภัยแล้งขึ้นอย่างบูรณาการ  เพื่อสร้างความชัดเจนและมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ

นายโสกุล  เชื้อภักดี  ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม   บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ  อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า  จากสถานการน์น้ำขณะนี้จะเห็นว่า  โดยรวมพื้นที่ภาคตะวันออกยังไม่น่าเป็นห่วง  ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทราที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  ซึ่งเรามีแผนสำรองเพื่อป้องกันภัยแล้งไว้แล้ว  โดยจะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ปริมาณ 87 ล้าน ลบ.ม.  เพื่อส่งจ่ายไปยังผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี   รวมถึงการเร่งรัดโครงการวางท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-หนองค้อ เส้นที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจ่ายน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลให้กับผู้ใช้น้ำในพื้นที่ปลวกแดง-บ่อวิน ให้สามารถพร้อมส่งจ่ายน้ำได้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2559

ส่วนพื้นที่ฉะเชิงเทรา  มีปริมาณความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม. จากการเกิดภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาป่าสัก  ทำให้ อีสท์ วอเตอร์  ต้องช่วยส่งน้ำไปให้กับพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมเป็นพิเศษ   อย่างไรก็ตามเราได้เตรียมแผนการจัดหาแหล่งน้ำสำรองจากบ่อดินเอกชนเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรองรับไว้แล้ว 2.5 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะหาเพิ่มได้อีก 4.5 ล้าน ลบ.ม. จะช่วยให้พื้นที่ฉะเชิงเทรามีแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้งอย่างเพียงพอ  จากความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงานจะช่วยแก้ไขปัญหาและมั่นใจว่าจะผ่านแล้งนี้ไปได้เหมือนทุกครั้ง

ด้านนายประสานต์  พฤกษาชาติ  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง  กรมชลประทานเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำหลักว่า  ปริมาณน้ำยังมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และใช้งานในภาคอุตสาหกรรมตลอดช่วงฤดูแล้งนี้   โดยอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่จังหวัดระยอง  ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ดอกกราย คลองใหญ่ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 192.8 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66.8% มากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.4% และอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่  195.0 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี  สำหรับอ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ  ในพื้นที่ชลบุรี มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 37.18 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 26.9% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.27%

ส่วนนายวิฑูรย์  อยู่ทิม รองผู้ว่าการ สายงานปฏิบัติการ 3  การนิคมอุตสากรรมแห่งประประเทศไทย(กนอ.) เสริมว่า กนอ. มีแผนการรับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 โดยมีการสั่งให้จัดทำแผนบริหารจัดการภัยแล้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ โดยจะมีการเฝ้าระวังติดตามสานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยประสานกับกรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรับมือกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที  และมีการทำงานร่วมกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด  รวมทั้งมีการแจ้งผู้ประกอบการเป็นระยะเพื่อเตรียมความพร้อมตลอดเวลา

นอกจากความร่วมมือดังกล่าวข้างต้นแล้ว  อีสท์ วอเตอร์  ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การนำเทคโนโลยี SCADA มาใช้ควบคุมระบบสูบส่งน้ำของอีสท์ วอเตอร์  ช่วยให้ลดปริมาณน้ำสูญเสียในเส้นท่อได้เหลือน้อยกว่า 3%  เป็นการใช้น้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ  รวมถึงได้นำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการน้ำที่เน้นการใช้น้ำทุกหยดอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในโครงการ Water Complex  ซึ่งเป็นการวางระบบน้ำแบบครบวงจรให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละอุตสาหกรรมและสามารถนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่  ซึ่งระบบนี้ยังสามารถนำมาใช้กับภาคครัวเรือนได้ด้วยการวางระบบน้ำ Reclaimed หรือระบบน้ำแบบ 2 เส้นท่อ  แยกท่อน้ำดีกับท่อน้ำเสียออกจากกัน เพื่อนำน้ำที่ใช้แล้วมาผ่านระบบบำบัดขนาดเล็กและกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในระบบฟลัดชิ่งและรดน้ำต้นไม้  ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์รัฐบาลในการแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน