เอกชนห่วง "บาทแข็ง" กระทบส่งออก วอนหน่วยงานรัฐเร่งหาทางออก

07 ก.พ. 2562 | 10:58 น.
สรท. กังวลการแข็งค่าเงินบาทต่อเนื่องกระทบยอดส่งออกปี 62 วอนหน่วยงานกำกับดูแลอย่าให้บาทแข็งมากนัก มั่นใจ! ปีนี้ส่งออกโตแค่ 5% ชี้! หลายปัจจัยต้องตามดูใกล้ชิด

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องนับตั้งช่วงปลายปี 2561 จนถึงขณะนี้ และยังมีท่าทีจะแข็งค่าต่อเนื่องอีก เป็นสิ่งที่ภาคการส่งออกมีความกังวลใจอย่างมาก ซึ่งค่าบาทขณะนี้ ที่ 31.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องเข้ามาดูและหาหนทางไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไป จนทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารของไทยจะแข่งขันได้ลำบากมาก และกลุ่มปัญหาอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังติดลบอยู่ โดยภาคเอกชนจะหารือกับภาครัฐเพื่อหาหนทางแก้ไขกลุ่มนี้ไม่ให้ปรับลดลงไปมาก ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดปีที่ผ่านมาที่โตเพียงแค่ 6.7% คิดเป็นมูลค่า 252,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตามที่คาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่คาดว่า ทั้งปี 2561 จะเติบโตได้เกือบ 8% ถือว่าไม่เลวร้ายและรับได้ แม้ว่าจะไม่เติบโตตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดก็ตาม เนื่องจากปัจจัยหลักจะอยู่ที่ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงปัญหาความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง


70152

ดังนั้น เป้าหมายการส่งออกในปี 2562 นี้ ทาง สรท. มองว่า ตัวเลขการส่งออกไทยน่าจะขยายตัวเป็นบวกอยู่ที่ 5% โดยมีสมมติฐานค่าเงินบาท 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวดีอยู่ แต่อยู่ภายใต้ความกังวลใจที่มีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนจะออกมาอย่างไร ปัญหาความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาความไม่ชัดเจนในกลุ่มยูโรโซน ปัญหาราคาน้ำมัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 4 มี.ค. นี้ สรท. จะเข้าพบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดูแลค่าเงินบาท โดย สรท. อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่ง ที่สำคัญผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะ SME ต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไป จนกระทบถึงต้นทุนการส่งออก โดยการพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ ธปท. ได้ออกมาตรการ หรือ เครื่องมือประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมมองว่า ธปท. ควรดูแลเรื่องต้นทุนของ Fx-Forward ให้มีการกำหนดราคากลาง รวมถึงการเจรจาเพิ่มประเทศที่สามารถใช้ Local Currency ได้

นอกจากนี้ รัฐบาลและผู้ประกอบการควรจัดส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมในการขยายตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกระทบจากความผันผวนจากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาสินค้าเพื่อรุกตลาดอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในสินค้าของไทยและเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของ GDP สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยจัดทำแผนการตลาดรายสินค้าในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นาน โอกาสที่ตัวเลขการส่งออกตลอดทั้งปีต่ำกว่า 5% รวมทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนไม่มีทางออกที่ดี โอกาสที่ตัวเลขการส่งออกอาจขยายตัวได้เพียง 0% เพราะหากจะให้การส่งออกขยายตัวได้ตามคาดการณ์ยอดส่งออกรายเดือนต้องไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากต่ำกว่า 20,000-19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โอกาสตัวเลขการส่งออกของไทยจะต่ำกว่าเป้าหมายก็เป็นไปได้เช่นกัน

ขณะที่ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงมุมมองเรื่องค่าเงินบาทในงานสัมมนา "มองโลก มองไทย ทิศทางส่งออกปี 2562" ว่า ในข้อเท็จจริงหากมองตามโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ค่าเงินบาทปัจจุบันถือว่าอ่อนมาก เพราะปัญหาขณะนี้ คือ มีหนี้ท่วมโลก ในขณะที่ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินจะไหลเข้ามาในประเทศแถบอาเซียนมากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตระยะยาว เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าไปถึง 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกลับไปอยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งผู้ส่งออกต้องปรับวิธีคิดและปรับสินค้าส่งออกไปสู่สินค้านวัตกรรมมากขึ้น

595959859