ผู้แทนฯต้องเป็นภูมิปัญญาของสังคม

07 ก.พ. 2562 | 10:38 น.
ผู้แทน-0001 3_152 คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.แล้ว ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก เพียงวันแรกของการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ระบบเขตเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร 58 พรรค ส่งสมัครครบทั้ง 350 เขต รวมจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 5,831 คน

แต่เกิดปรากฏการณ์หนึ่งเป็นที่ฮือฮา เมื่อมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.เขต พรรคเพื่อชาติ ในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมจำนวนถึง 15 คน พากันเปลี่ยนชื่อก่อนมายื่นสมัครรับเลือกตั้ง หากเป็นชายก็เปลี่ยนชื่อเป็น“ทักษิณ” ผู้สมัครหญิงเปลี่ยนชื่อเป็น“ยิ่งลักษณ์” หรือ“ยิ่งรักษ์” ซึ่งพ้องเสียงกัน

นายอารีย์ ไกรนรา รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ รับว่า เพราะต้องการให้เป็นที่จดจำได้ง่าย มีความชื่นชอบนายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นกลยุทธ์ ให้เข้ากับรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีข้อจำกัดการหาเสียงจำนวนมาก

ทั้งคณะกรรมการกกต.และผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ทำได้ตามกฎหมาย

[caption id="attachment_385665" align="aligncenter" width="500"] ผู้แทนฯต้องเป็นภูมิปัญญาของสังคม เพิ่มเพื่อน [/caption]

อย่างไรก็ตามในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ที่บัญญัติให้การบริหารพรรคต้องเป็นไปโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ เปิดให้สมาชิกมีส่วนร่วม รวมถึงกำหนดมาตรการ “ให้สามารถดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น” อีกทั้งในระเบียบกกต.ยังวางกติกา ห้ามพรรคการเมืองหรือผู้สมัครใช้รูปบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคขึ้นป้ายหาเสียง
140703_th เจตนารมณ์เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระแก่สมาชิกพรรคและนักการเมือง เพราะพรรคต้องมีความเป็นสถาบันทางการเมือง เป็นที่รวมของแนวคิด อุดมการณ์ หรือความต้องการของกลุ่มบุคคลหรือสาธารณชน ที่มาจากความคิด สติปัญญา ที่เป็นอิสระของผู้แทนฯ และสมาชิกพรรค มิใช่ของผู้นำพรรคคนใดคนหนึ่ง

การยอมเปลี่ยนชื่อ เพียงแค่ให้เป็นที่จดจำของประชาชน จึงเป็นการลดตัวลงยอมเป็นเพียงสินค้าทางการเมือง หรือหากจะบอกว่ามีความนิยมชมชอบอดีตผู้นำ ก็สะท้อนถึงความไม่มีแก่นสารในตัวเอง ยอมเป็นเพียงร่างทรงให้บุคคลอื่น เช่นนี้แล้วจะคาดหวังให้เป็นตัวแทนเพื่อไปปกป้องประโยชน์ของประชาชนในอนาคตได้อย่างไร

ในอดีตนักการเมืองใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อสร้างความจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการขี่ควายเข้าสภา ขี่ม้ามาสมัครรับเลือกตั้ง แต่วันนี้ถึงกับยอมเปลี่ยนชื่อ ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนในสังคม อีกทั้งยังเป็นมงคลจากบุพการีที่ตั้งให้ เพื่อแข่งขันในการเลือกตั้งส.ส.ยุคโลกดิจิตอล น่าเศร้าว่าเรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร

|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3442 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-9 ก.พ.2562
595959859


[caption id="attachment_385525" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]