"เลือกตั้ง" สื่อเงินสะพัด! "ออนไลน์-OOH" รับทรัพย์

10 ก.พ. 2562 | 04:30 น.
สื่อออนไลน์-สื่อนอกบ้านเตรียมรับทรัพย์ อานิสงส์เลือกตั้งดันเม็ดเงินโฆษณาสะพัด 300-500 ล้านบาท ขณะที่ ทั้งอุตสาหกรรมโต 5% เผย กฎเข้ม กกต. จำกัดงบ-ห้ามใช้สื่อทีวีทำซบเซา แนะใช้เครื่องมือถูก คอนเทนต์ดี สร้างเรื่องราวโดนใจ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แน่

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้วันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป สื่อต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ถูกหยิบมาใช้เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และระอุยิ่งขึ้นเมื่อผ่านพ้นวันรับสมัคร ส.ส. และการประกาศเกณฑ์การหาเสียงผ่านสื่อต่าง ๆ การชูนโยบายพรรค การแนะนำผู้สมัคร สร้างการรับรู้ ถูกโหมกระหนํ่าผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะป้ายโฆษณาเหมือนในอดีตอีกต่อไป


mp32-3443-1

โดยพบว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เห็นเป็นรูปธรรมและชัดเจน คือ ในปี 2554 ซึ่งในปีนั้นพรรคการเมืองต่าง ๆ มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ รวมเกือบ 300 ล้านบาท โดยในยุคนั้นสื่อที่มีอิทธิพลและมีการใช้เงินสูงสุด ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี ขณะที่ ในปีนี้แนวโน้มการใช้สื่อของพรรคการเมืองน่าจะแตกต่างไปจากอดีต โดยสื่อที่มีอิทธิพลอันดับต้น ๆ คือ สื่อออนไลน์ เนื่องจากเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภครวดเร็ว ตรงกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ราคาถูก และสามารถชูนโยบายได้ครบถ้วน ขณะที่ สื่อรองลงมา ได้แก่ สื่อนอกบ้าน (Out of Home : OOH) ที่จะช่วยตอกยํ้าเบอร์ผู้สมัครให้อยู่ในใจผู้เลือกตั้งได้อีกครั้ง

เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในปีนี้ ที่พบว่า จำนวนข้อมูลประชากรไทยที่มีสิทธิการเลือกตั้งในปี 2562 ที่มีจำนวนราว 51 ล้านคน แบ่งเป็น สัดส่วนประชากรอยู่ที่กลุ่มคนอายุ 18-26 ปี จำนวนกว่า 8 ล้านคน อายุ 27-35 ปี จำนวนกว่า 8 ล้านคน อายุ 36-50 ปี จำนวนกว่า 15 ล้านคน อายุ 51 ปีขึ้นไป เกือบ 20 ล้านคน ซึ่งส่วนตัวมองว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ กลุ่มคนที่ยังไม่เป็นแฟนคลับพรรคไหนมาก่อนและน่าจับตามองจะเป็นกลุ่มคนอายุ 18-26 ปี ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตและอยู่นอกบ้านส่วนใหญ่ ดังนั้น สื่อที่มีอิทธิพลต่อคนกลุ่มนี้คงหนีไม่พ้นสื่อออนไลน์และสื่อนอกบ้าน

 

[caption id="attachment_385784" align="aligncenter" width="503"] ภวัต เรืองเดชวรชัย ภวัต เรืองเดชวรชัย[/caption]

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เม็ดเงินการใช้สื่อโฆษณาของพรรคการเมืองในปีนี้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2554 ที่ผ่านมา คือ มีเงินสะพัดราว 300-500 ล้านบาท แม้จะมีข้อจำกัดของ กกต. ที่กำหนดการโฆษณาของพรรคการเมืองทั้งหมดห้ามโฆษณาผ่านสื่อทีวีโดยตรง ดังนั้น ในปีนี้ส่วนตัวมองว่า ทุกพรรคการเมืองจะหันมาให้ความสำคัญเรื่องของคอนเทนต์มากขึ้น ซึ่งคอนเทนต์ที่ออกมาจะถูกนำไปไว้ในสื่อประเภทใดก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองดังกล่าวต้องการเจาะกลุ่มประชาชนกลุ่มใด อีกทั้ง กกต. ยังได้กำหนดงบประมาณโฆษณาการใช้สื่อ โดยกำหนดให้ ส.ส. ใช้งบการโฆษณาได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อคน และไม่เกิน 35 ล้านบาทต่อพรรค"

นอกจากนี้ การใช้งบการโฆษณาของพรรคการเมืองครั้งนี้จะช่วยส่งผลให้ภาพรวมของตลาดโฆษณาในปีนี้เติบโตประมาณ 5% เนื่องจากในช่วงเดือน ก.พ. และมีนาคมเป็นช่วงไฮซีซันของการโฆษณาอยู่แล้ว

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นางสาวโศรดา ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริลเลียนแอนด์มิลเลียน จำกัด ที่ระบุว่า ขณะนี้เริ่มเห็นพรรคการเมืองต่างหันมาใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้น โดยสิ่งที่พบเห็นขณะนี้ คือ การที่พรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มสร้างแฟนเพจในโซเชียลมีเดียของกลุ่มตัวเอง โดยในแฟนเพจจะประกอบด้วยแนวคิด สัมมนา อื่น ๆ ซึ่งบางพรรคเจาะลึกไปยังกลุ่มนักศึกษา โดยเน้นการสร้างรูปแบบสกู๊ปออนไลน์ สตอรีเทลลิ่ง ผ่านออนไลน์เพื่อให้เข้าใจมิติเชิงลึกของนโยบายแต่ละพรรคมากขึ้น

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,443 ระหว่างวันที่ 10 - 13 กุมภาพันธ์ 2562

595959859