ประกันขู่เพิ่มเบี้ย! "ค่ายา" แพงเจอคุก

07 ก.พ. 2562 | 06:58 น.
070262-1344

พาณิชย์เล่นไม้แข็งใช้ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ คุม ร.พ.เอกชน คิดค่าบริการสูงเกินจริง โทษหนักถึงจำคุก เสนอให้ทำบัญชีต้นทุนยาเปรียบเทียบแบ่งกลุ่มขนาดโรงพยาบาล สมาคมประกันวินาศภัยโวยรับความเสี่ยง ขู่ปรับเพิ่มเบี้ย หลังแบกค่าเคลมอ่วม

การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล นัดแรก ที่มี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 เพื่อพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนและสถานพยาบาล ได้ถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียดในเรื่องข้อเท็จจริงปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง โดยยังไม่มีข้อสรุปในการควบคุมราคายาและค่าหมอแต่อย่างใด

 

[caption id="attachment_385667" align="aligncenter" width="335"] บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์[/caption]

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สถานพยาบาล สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น

ที่ประชุมเห็นชอบในเบื้องต้นให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และนำกลับมาเสนอคณะอนุกรรมการ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย กระทรวงพาณิชย์เตรียมประกาศให้ติดป้ายแสดงราคาและรณรงค์การใช้สิทธิให้ผู้ป่วยสามารถซื้อยาข้างนอกได้ (ซึ่งเป็นเรื่องเก่า) แต่ "วงใน" ระบุ การประชุมครั้งนี้ยังมีเรื่องสำคัญอีกหลายเรื่องที่มีการถกกันอย่างเผ็ดร้อนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

แหล่งข่าวจากที่ประชุม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า หลังจากมีการกำหนดให้เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าควบคุมแล้ว หากผู้ประกอบการรายใดมีการคิดราคาต่ำ หรือ สูงเกินไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ ตามมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ขณะที่ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า โรงพยาบาลควรมีการแจ้งราคา ผู้ที่เข้ารับการรักษารู้ว่าโรงพยาบาลที่เข้าไปใช้บริการมีราคาเท่าไหร่ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคตัดสินใจ ส่วนเรื่องค่ายาแพง ควรแก้ไขด้วยการเปิดทางให้ผู้ใช้บริการนำใบสั่งแพทย์ไปซื้อยาร้านขายยาข้างนอกได้


syringe-1884784_960_720

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายในที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพราะปัจจุบัน ก็มีการเปิดทางให้ผู้ใช้บริการสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อจากร้านข้างนอกได้อยู่แล้ว

 

[caption id="attachment_385665" align="aligncenter" width="500"] ประกันขู่เพิ่มเบี้ย! "ค่ายา" แพงเจอคุก เพิ่มเพื่อน [/caption]

ขณะที่ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชี้แจงว่า สาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชนต้องคิดค่ายาและบริการแพง เนื่องจากมีภาระเรื่องการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องอาคาร ที่ดิน รวมไปถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ด้าน นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย แย้งว่า การคิดค่ายาและค่าบริการที่แพง ผู้รับความเสี่ยง คือ บริษัทประกันภัย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือ ค่าเคลมจากค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการกำหนดให้คนไข้นำใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อจากร้านขายยาภายนอก ในความเป็นจริงไม่มีผลในทางปฏิบัติ หากยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาควบคุม ทางบริษัทประกันก็มีแค่ 2 ทางเลือก คือ ไม่รับประกัน หรือ ปรับเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพ จึงอยากให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้

ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุ ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ การคิดราคาที่แพงเกินไป ทั้งค่ายา ค่าบริการ และค่าเวชภัณฑ์ แต่ในงบการเงินของโรงพยาบาลเอกชนไม่มีการแยกต้นทุนยาและค่าบริการออกมาให้ชัดเจน อีกประเด็น คือ การรักษาที่มากเกินความจริง ทำให้ผู้ป่วยจ่ายค่าบริการมากเกินความจำเป็นตามไปด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การกำหนดค่าบริการของโรงพยาบาลนั้นควรมีการแยกให้ชัดเจน ด้วยการแบ่งกลุ่มโรงพยาบาลออกเป็น 3 กลุ่ม ตามขนาด S M L คือ โรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลขนาดกลาง และโรงพยาบาลขนาดใหญ่

 

[caption id="attachment_385670" align="aligncenter" width="335"] สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)[/caption]

แหล่งข่าวจากธุรกิจประกันชีวิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนของการควบคุมราคาค่ายาและบริการจะออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งสมาคมประกันชีวิตก็พร้อมจะทำตามหลักเกณฑ์

ขณะเดียวกัน การคำนวณเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6-8% เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาล จะอยู่ที่ 2-3% และอัตราเงินเฟ้อของประเทศที่อยู่ราว 1% แต่หากคิดเฉพาะอัตราเงินเฟ้อภาคเอกชนจะสูงถึง 8% ซึ่งรวมทุกอย่าง เช่น ค่ายา ค่าหมอ ค่าห้อง ที่เพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ค่ารักษาเคยอยู่ที่ 2 หมื่นบาท ปีหน้าค่ารักษาจะเพิ่มเป็น 2.8 หมื่นบาท เป็นต้น ดังนั้น การคำนวณเบี้ยประกันจะขึ้นลงตามเงินเฟ้อด้วย

นายสวัสดิ์ นฤวรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Life Operation Office บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ค่าเฉลี่ยของค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในทั้งหมดต่อครั้ง สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 เพิ่มขึ้น 14% จากปี 2559 และสถานพยาบาลบางแห่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจน

 

[caption id="attachment_385671" align="aligncenter" width="503"] ©rawpixel.com ©rawpixel.com[/caption]

อย่างไรก็ตาม การกำหนดเบี้ยประกัน บริษัทใช้อัตราเบี้ยประกันตามที่ได้รับอนุมัติจาก คปภ. โดยมีการเพิ่มเบี้ยประกันตามช่วงอายุเท่านั้น ขณะเดียวกันการปรับเพิ่ม หรือ ลดเบี้ยประกันสุขภาพ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาล อาทิ จำนวนการเข้าใช้บริการโรงพยาบาล การใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ราคาแพง การเกิดโรคระบาด เป็นต้น


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,441 วันที่ 3 - 6 ก.พ. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ถก "คุมค่ายา-หมอ" นัดแรกคืบ! เร่งตรวจต้นทุน ร.พ. ใน 60 วัน 'พาณิชย์' ให้ติดป้ายราคา ซื้อยาข้างนอกได้
เบื้องหลังคุม ร.พ.เอกชน "ค่ายา-บริการแพง" กระทบทุกหย่อมหญ้า

เพิ่มเพื่อน 595959859