"กุหลาบวาเลนไทน์" ยอดพุ่ง! อัพราคาเท่าตัว - "ขนมอาลัว" ออร์เดอร์ล้น

07 ก.พ. 2562 | 03:49 น.
เทศกาล 'วาเลนไทน์' คึก! ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียอดออร์เดอร์พุ่ง "อาลัวกุหลาบ" แบรนด์ 'ไทละมุน' เตรียมแพ็กเกจ พิเศษรับ 'วาเลนไทน์' ชี้รายได้เพิ่มเท่าตัวจากปกติ ด้าน ร้านดอกไม้ "เกสซี่ ฟลาวเวอร์" รับออร์เดอร์โต 100% แค่วันเดียว ขณะที่ ร้านดอกไม้ 'ต้อย' คาดยอดสั่งเท่าปีที่แล้ว แต่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสั่งช่อเล็กตามภาวะเศรษฐกิจ

ในช่วงเดือน ก.พ. ถือว่าเป็นเดือนแห่งความรัก เนื่องจากวันที่ 14 ก.พ. ของทุกปีได้ ถูกกำหนดให้เป็นวันแห่งความรัก หรือ วันวาเลนไทน์ (Valentine) ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นิยมมอบความรักให้แก่กันเป็นพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ โดยสิ่งของแทนใจเป็นอีกหนึ่งสื่อที่คนรักกันมักจะเสาะหาของขวัญที่มีความหมายที่ดีมอบให้แก่กัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเหล่านี้มียอดคำสั่งซื้อเข้ามามากเป็นพิเศษ


15475

นางสาวณัฐนิช กอเจริญ เจ้าของธุรกิจอาลัวกุหลาบ ภายใต้แบรนด์ 'ไทละมุน' เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ แบรนด์ได้เตรียมผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในรูปแบบของแพ็กเกจที่เป็นกล่องรูปหัวใจ ชะลอม และกล่องแบบใส่ดอกกุหลาบคู่ โดยล่าสุด ได้มีคำสั่งซื้อของลูกค้าในแพ็กเกจต่าง ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่น กล่องรูปหัวใจ 100 กล่อง และชะลอม 70 ชิ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปีนี้คำสั่งซื้อมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากแบรนด์ที่รู้จักมากขึ้นจากผู้บริโภค โดยในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์จะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากช่วงเวลาปกติ ซึ่งในปีนี้คาดว่า รายได้เฉพาะช่วงเทศกาลจะอยู่ที่ประมาณ 60,000-70,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่า จากเดิมที่จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ในช่วงเวลาดังกล่าวของปีที่ผ่านมา

"เวลานี้ตนต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาลัวดอกกุหลาบเป็นวันละ 1,000 ดอก หรือมากกว่านั้น หากสามารถทำได้ และจะต้องเริ่มทำตั้งแต่เช้าถึงเวลาคํ่า เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จากเดิมที่ตนจะทำอาลัวดอกกุหลาบอยู่ที่ประมาณ 500 ดอกต่อวัน"

นางสาวเกศสิรินทร์ บัวตุม เจ้าของธุรกิจร้านดอกไม้ แบรนด์ "เกสซี่ ฟลาวเวอร์" (Kessy Flower) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์จะมีออร์เดอร์ดอกไม้เพิ่มมากขึ้นเกิน 100% ของช่วงเวลาปกติ โดยของที่ร้านเพียงวันดังกล่าววันเดียวจะมีผู้สั่งดอกไม้ประมาณ 40-50 ช่อ เพื่อมอบให้กับบุคคลที่รัก จากเดิมที่ต่อเดือนจะมีผู้สั่งดอกไม้ประมาณ 10 ช่อ ขณะที่ ราคาก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดอกกุหลาบเป็นราคาช่อละประมาณ 2,000-2,500 บาท ขึ้นอยู่กับดอกไม้ที่เลือก จากราคาปกติจะอยู่ที่ช่อละประมาณ 1,000 บาท


15474 15477 15476

"ที่ร้านจะไม่ได้มีการจัดกิจกรรมทางการตลาด หรือ มีโปรโมชันเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า เพราะเป็นเพียงร้านขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่เหมือนกับที่ปากคลองตลาด ที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง แต่ที่ร้านก็มีกลุ่มลูกค้าประจำที่เข้ามาสั่งซื้อ ส่วนราคาของดอกกุหลาบก็จะมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการของตลาด เช่น กุหลาบไทยจาก จ.เชียงใหม่ ในช่วงเวลาปกติจะอยู่ที่กำละ 120 บาท แต่หากเป็นช่วงวาเลนไทน์ราคาจะขยับไปอยู่ที่ 300-400 บาท โดยถือว่าเป็นเทศกาลที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับเทศกาลเป็นอย่างมาก"

อย่างไรก็ดี ตนได้ดำเนินการจัดโปรโมชันพิเศษร่วมกับธุรกิจร้านอาหาร 'กลิ่นดี' ที่ตนเป็นเจ้าของ โดยมอบดอกกุหลาบให้ผู้ที่มารับประทานอาหารที่ร้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามารับประทานอาหารมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นตลาด โดยใช้ช่วงวาเลนไทน์มาเป็นแรงขับเคลื่อนในอีกรูปแบบหนึ่ง

นางทองหล่อ กุหลาบสวัสดิ์ เจ้าของร้านดอกไม้ 'ต้อย' กล่าวว่า ในปีนี้ช่วงวาเลนไทน์คาดว่าจะมียอดคำสั่งซื้อในระดับที่ทรงตัวเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่า ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีเท่าใดนัก ผู้บริโภคจึงเลือกใช้จ่ายแต่พอตัว โดยที่ช่อดอกไม้ขนาดเล็กจะได้รับความนิยมกว่าช่อดอกไม้ขนาดใหญ่ที่มีราคาแพง ซึ่งทางร้านก็ได้เตรียมช่อดอกไม้ขนาดเล็กไว้รองรับช่วงเทศกาลแล้ว ตามพฤติกรรมการบริโภคปรับเปลี่ยนไป ขณะที่ ราคาดอกกุหลาบคาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10%


Print

"ยอดคำสั่งซื้อและรายได้คงจะไม่ลดลงจากปีที่แล้ว เพียงแต่การสั่งช่อดอกไม้จะเป็นการสั่งในรูปแบบช่อขนาดเล็กมากขึ้นเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่ทำงานแล้วก็เลือกที่จะสั่งขนาดดังกล่าวเพื่อส่งมอบให้คนที่รัก โดยยอดการสั่งซื้อช่วงวาเลนไทน์จะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติเกิน 50% เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ 1 ปี จะมีเพียงครั้งเดียว ซึ่งในปีที่ผ่านมา มองว่าน่าจะขายได้น้อย แต่ก็มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ก็น่าจะเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน โดยปัจจุบันเริ่มมีผู้ที่สั่งช่อดอกไม้เข้ามาแล้วเป็นจำนวนมาก"

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3442 วันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2562

ติดตามฐาน