สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจปี 62 โต 4% เผยรอบ 5 ปี ประเทศพัฒนาดีขึ้น

06 ก.พ. 2562 | 10:48 น.
- 6 ก.พ. 2562 - ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมด้วยรองเลขาธิการ สศช. ทั้ง 6 คน แถลงเปิดเผยรายงานผลการพัฒนาประเทศในรอบ 5 ปี พ.ศ. 2557-2561 ซึ่งจัดทำโดย สศช. เป็นครั้งแรก

ดร.ทศพร กล่าวว่า ภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 4.3 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 และคาดว่าทั้งปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 สําหรับในปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวลดลง เหลือร้อยละ 4.0 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) สงครามการค้า และดอกเบี้ยโลก แต่ทั้งนี้ ยังคงมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากองค์ประกอบหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการขยายตัวและกระจายตัวมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งมูลค่าการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นตามลําดับ โดยมีผู้ว่างงานคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของกําลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ตลอดจนสัดส่วนหนี้ภาครัฐทรงตัวจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง


IMG_20190206_122315

สําหรับผลการพัฒนาประเทศไทยในช่วง 2557-2561 ภาครัฐมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มีการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในมิติต่าง ๆ ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ (1) การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับให้ความสําคัญในการกํากับดูแลเศรษฐกิจฐานราก (2) การปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสของประชาชน (3) การลดความเสี่ยงของประเทศในด้านต่าง ๆ (4) การสร้างความภาคภูมิใจและการได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และ (5) การแก้ไขกฎหมายและปรับระบบการบริหารราชการแผ่นดิน

จากนั้น ดร.ทศพร ได้ลำดับให้เห็นภาพของการพัฒนาประเทศในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจ อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจฐานรากนั้น มีการลงทุนกว่า 539,463 ล้านบาท ในอุตสาหกรรม New S-Curve มีการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก โดยมีการอนุมัติโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สําคัญ เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ได้แก่ ระบบราง เพื่อเชื่อมโยง 3 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC มากขึ้น มีการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมมีสัดส่วนต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 1 ในปี 2560 การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม


สศช1

การสร้างความเข้มแข็งด้านการท่องเที่ยว พบว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของประเทศในเอเชียแปซิฟิก มีจํานวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นอันดับ 10 ของโลก สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 57,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 14.2 ต่อ GDP เป็นร้อยละ 18.4 ต่อ GDP ในปี 2561

ดร.ทศพร กล่าวอีกว่า การเร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หลังจากหยุดนิ่งมา 10 ปี มีการดําเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและขนส่งไร้รอยต่อ เชื่อมไทยเชื่อมโลก และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต อาทิ การลงทุนระบบรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล วงเงินรวมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม อาทิ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุม 59,255 หมู่บ้าน การลงทุนโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศและการพัฒนาระบบดาวเทียมสํารวจเพื่อการพัฒนา วงเงินรวม 13,779 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับรูปแบบการค้า การขนส่ง การเงิน และการบริหารจัดการภาครัฐแบบ ดิจิทัลยุคใหม่ (Digital Transformation) อาทิ การพัฒนาระบบ E-payment ระบบ National Single Window ฯ


สศช2

การดูแลการจัดการทรัพยากรของประเทศ สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2.83 ล้านไร่ และมีแหล่งน้ำสําหรับไร่นา 180,278 แห่ง รวมทั้งการจัดการอุทกภัยชุมชนเมือง 14 แห่ง เนื้อที่ 0.4 ล้านไร่ ด้านพลังงานมีการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดยสามารถเปิดประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุของแหล่งปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณ ทําให้มีก๊าซธรรมชาติใช้อย่างต่อเนื่อง ลดการนําเข้าประมาณ 22 ล้านตัน หรือประมาณ 4.6 แสนล้านบาท สร้างรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท ฯ

การดูแลเศรษฐกิจฐานราก มีการจัดสรรที่ดินทํากินและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใน 61 จังหวัด จํานวน 46,674 ราย พื้นที่ 399,481 ไร่ การพัฒนา Smart Farmer มากกว่า 1 ล้านราย การช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหา เช่น ช่วยเหลือชาวนา 3.63 ล้านครัวเรือน วงเงิน 39,506 ล้านบาท และชาวสวนยาง 1.54 ล้านครัวเรือน วงเงิน 18,882 ล้านบาท รวมทั้งได้มีการระบายข้าวจากโครงการรับจํานําข้าวกว่า 17 ล้านตัน การส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดผ่านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ 4,663 แปลง พื้นที่ 5.41 ล้านไร่ การใช้ Agri-Map เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ การวางแผนการผลิตและการตลาด การเพิ่มมูลค่าสินค้าของชุมชนผ่านการดําเนินโครงการสินค้า OTOP และส่งเสริมสินค้า GI สามารถขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วยการสร้างโอกาส ในการจับคู่ธุรกิจและนําผลิตภัณฑ์ OTOP จําหน่ายบนเครื่องบิน และสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้า OTOP ที่มีแนวโน้มการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 98,000 ล้านบาท ในปี 2557 เป็น 190,000 ล้านบาทในปี 2561


สศช3

"นอกจากนี้ ภาครัฐได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถดําเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น สินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านและซ่อมแซมบ้าน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การให้สวัสดิการต่าง ๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเปิดโครงการร้านธงฟ้า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนการดําเนินการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งสิ้น จํานวน 79,598 กองทุน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ ส่งเสริมการออม รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคง กินดีอยู่ดี และมีความสุขมากยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีการปรับตัวลดลง และยอดคงค้างสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็นร้อยละ 50.4 ของ สินเชื่อรวมจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด"

สําหรับการพัฒนาให้เกิดการกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาคเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ดําเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจจัดตั้งธุรกิจจํานวน 3,017 ราย และมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI วงเงินรวม 8,818.5 ล้านบาท รวมทั้งได้ดําเนินการจัดทํากรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ และมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


สศช4

เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงการลดความเสี่ยงของประเทศ ว่า การดําเนินการในระยะที่ผ่านมา ได้มีการติดตามและแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศที่สะสมมานานและส่งผลกระทบกับการพัฒนาประเทศอย่างมีนัยสําคัญ เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจในอดีต รวมทั้งสร้างโอกาสและความยั่งยืนให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยดําเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งจัดทําแผนการบริหารจัดการต่าง ๆ ติดตามและเฝ้าระวัง รวมทั้งจัดทําข้อตกลงระหว่างประเทศ ทําให้สามารถลดความเสียงของประเทศได้เป็นผลสําเร็จ อาทิ การปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2560 จากประเด็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน การปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 จากประเด็นปัญหาด้านประมง หรือ เบบ และการทําให้ประเทศไทยขึ้นมาอยู่ Tier 2 ในประเด็นการค้ามนุษย์

"สําหรับการจัดอันดับขององค์กรระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับมีลําดับที่ดีขึ้น อาทิ อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ในปี 2561 มีอันดับที่ดีขึ้น 20 อันดับการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index : GCI 4.0) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ในปี 2561 มีอันดับที่ดีขึ้น 2 อันดับ และการวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ในปี 2561 มีอันดับที่ดีขึ้น 13 อันดับ การประเมินผลดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index : GI) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ในปี 2561 มีอันดับที่ดีขึ้น 7 อันดับ" ดร.ทศพร กล่าว


สศช5

เลขาฯ สศช. กล่าวอีกว่า การแก้ไขกฎหมายและปรับระบบการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างเป็นธรรมในสังคม โดยมีพระราชบัญญัติที่ผ่านพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วทั้งหมด จํานวน 346 ฉบับ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 103 ฉบับ การปรับระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ประเทศไทยมีการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจะประกอบด้วย 23 แผนแม่บทการพัฒนา ที่จะครอบคลุมการดําเนินการในประเด็นต่าง ๆ และมีแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

"สรุปผลการพัฒนาที่ผ่านมาในระยะ 5 ปี พ.ศ. 2557-2561 ที่ผ่านมาได้มีการวางรากฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ สร้างโอกาสให้ชุมชนในการมีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว พัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลทุกข์สุข และความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกช่วงวัย ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบกับประชาชนในทุกกลุ่ม อาทิ ประชาชนตลอดช่วงชีวิต ภาคครัวเรือน กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส แต่ก็ยังคงมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป อาทิ ความเหลื่อมล้ำทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน"


สศช6

ดร.ทศพร กล่าวในตอนท้ายว่า การวางแผนอนาคตของประเทศไทยในระยะต่อไป การพัฒนาประเทศไทยในระยะต่อไปควรมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาพื้นฐานในสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความต่อเนื่อง ยกระดับประสิทธิภาพในการดูแลคนทุกช่วงวัย ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอาศัยอุตสาหกรรมศักยภาพและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสามารถสรุปได้เป็น 3 ส่วน ครอบคลุม 15 ประเด็นเร่งด่วน คือ การแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ประกอบด้วย 1.ตําบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เน้นสร้างความสามัคคี ปรองดอง และการบริหารพื้นที่อย่างยั่งยืน 2.แก้ปัญหาความมั่นคงเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาด้านยาเสพติดและความปลอดภัยด้านไซเบอร์ 3.พัฒนาประสิทธิภาพการทํางานภาครัฐในด้านการประเมินผลและการใช้งบประมาณ 4.แก้ปัญหาทุจริตของการดำเนินการทุกภาคส่วน และ 5.บริหารจัดการน้ําและมลพิษจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

การดูแลยกระดับ ประกอบด้วย 1.สภาพแวดล้อมภาครัฐ ที่สนับสนุนการดําเนินธุรกิจและการบริการภาครัฐ 2.สังคมสูงวัย ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดูแลตัวเองได้ 3.คนและการศึกษา พัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยให้มีทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต 4.เศรษฐกิจฐานราก เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการระดับตําบลทั้งในด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรม 5.บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย และ 6.กระจายศูนย์กลางความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและสิ่งอํานวยความสะดวกในพื้นที่เมือง


บาร์ไลน์ฐาน

สร้างรายได้และรองรับการเติบโตในระบบอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1.การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนครบวงจรและได้รับการยอมรับในระดับโลก 2.อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เน้นอุตสาหกรรมมูลค่าสูงและอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 3.การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ EEC และ SEC รวมทั้งการเปิดพื้นที่ใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และ 4.การพัฒนาระบบ โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สร้างความเชื่อมโยงทั่วประเทศและระหว่างประเทศ

ติดตามฐาน