กนง.เกาะติดค่าเงินบาท ชี้พร้อมเข้าไปดูแลใกล้ชิด หากเคลื่อนไหวรุนแรง

06 ก.พ. 2562 | 09:28 น.
กนง.ชี้พร้อมเข้าไปดูแลเงินบาทใกล้ชิด หากเคลื่อนไหวรุนแรง เผยปัจจุบันแข็งค่าระดับกลางอยู่ที่ 4.1% ใกล้เคียงตลาดเกิดใหม่ ย้ำกนง.ขึ้นดอกเบี้ยเป็น 1.75% ไม่มีผลเงินไหลเข้าดันบาทแข็ง เผยตัวเลขตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันเงินยังไหลออกสุทธิ ระบุตลาดพันธบัตรไหลออกสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปีนี้ การแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่(Emerging Markets)อื่น ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ยังดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่สิ้นปีจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เงินบาทแข็งค่า 4.1% และมีค่าความผันผวนอยู่ที่ 4.3% ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซียที่แข็งค่า 4.3% บราซิล แข็งค่า 5.6% รัสเซีย 6.0% เป็นต้น

อย่างไรก็ดี อาจจะมีความเข้าใจว่า ภายหลังจากกนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งก่อนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 จากระดับ 1.50% ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าและทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ข้อเท็จจริงจากข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปริมาณซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศของไทยสะท้อนว่ามีเงินทุนไหลออกสุทธิ โดยเฉพาะจากตลาดพันธบัตรไหลออกสุทธิอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นไหลเข้าสุทธิอยู่ที่ 6,400 ล้านบาท

595959859 อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาท ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการประเมินภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากผลของค่าเงินมีพลวัตรต่ออัตราเงินเฟ้อ การขยายตัวเศรษฐกิจ และมีผลทางอ้อมต่อเป้าหมาย 3 ข้อของกนง. ประกอบกับค่าเงินที่แข็งค่าและอ่อนค่า จะมีคนได้และคนเสียประโยชน์ รวมถึงหากค่าเงินมีความผันผวนเกินไป จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้น กนง.จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด หากมีการเคลื่อนไหวรุนแรงและรวดเร็วไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งอาจจะกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ ธปท.จะเข้าไปดูแล ซึ่งการดูแลนั้นจะมีกลไกดูแลเป็นปกติอยู่แล้ว

กนง.ไม่สามารถประเมินได้ว่าทิศทางค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าหรือแข็งค่า แต่หากมองว่าในตลาดการเงินโลกปัจจุบันจะเห็นว่าค่อนข้างมีความผันผวนและมีปัจจัยที่เข้ามาสร้างความผันผวนต่อเนื่อง เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ปัญหาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า และเป็นภาพที่มองไม่ชัด จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“ภาพรวมค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นระดับหนึ่ง แต่โดยรวมค่าเงินยังไม่ได้เคลื่อนไหวผิดปกติ แต่หากมีการเคลื่อนไหวที่เกินควรหรือเคลื่อนไหวรวดเร็วรุนแรง ธปท.จะเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งวิธีการดูแลจะเหมือนเดิมเพราะมีกลไกการดูแลอยู่แล้ว”

[caption id="attachment_384889" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]