กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงคงดอกเบี้ย 1.75% จับตาหนี้ครัวเรือน Q4 ขยับเพิ่มขึ้น

06 ก.พ. 2562 | 08:01 น.
กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ย 1.75% ต่อปี เชื่อนโยบายการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนคลายหนุนเศรษฐกิจโต จับตาติดตามหนี้ครัวเรือนใกล้ชิด หลังส่งสัญญาณขยับเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา คาดไตรมาส 4 ตัวเลขขยับเพิ่ม ชี้รถยนต์เร่งตัวสูง

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2% ต่อปี และในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต เช่น การติตามพัฒนาการของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงทิศทางการก่อหนี่ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยตัวเลขไตรมาสที่ 3 ปี 2561ระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 77.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่อยู่ 77.7% และคาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 หากดูตัวเลขการขยายตัวของระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์ จึงต้องเข้าไปติดตามข้อมูลเชิงลึก

ส่วนกรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ภาวะการเงินโดยรวมจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงควรเห็นให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินและสะสมขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) สำหรับในอนาคต

“น้ำหนักที่ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยนั้น มองว่าการขยายตัวเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนยังคงดูเรื่อง Data Dependent และคณะกรรมการทุกท่านยังมองเรื่องเสถียรภาพการเงิน และความเปราะบางยังมีอยู่ เช่น หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่เริ่มทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงปลายปี เป็นเรื่องที่คณะกรรมการติดตามอยู่ ส่วนจะออกมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ หรือ Macroprudential คงต้องติดตามข้อมูลเชิงลึกว่าไส้ในเกิดจากตัวไหน”

[caption id="attachment_384889" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]