สภาพัฒน์เร่งเคาะระเบียงเศรษฐกิจ "เหนือ-อีสาน"

06 ก.พ. 2562 | 06:19 น.
060262-1304

สภาพัฒน์เร่งศึกษาศักยภาพเศรษฐกิจเหนือ-อีสาน ควานหา "ตัวเปลี่ยนเกม" จัดกลุ่มยกระดับเป็นศูนย์กลางความเจริญใหม่ตามแบบ SEC มั่นใจประกาศ "ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-อีสาน" เพิ่มได้ในปี 62 นี้

ครม. เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 เห็นชอบศึกษารายละเอียดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor - SEC) ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ เพื่อเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และต้นแบบการพัฒนาศูนย์ความเจริญภูมิภาค

ครม. ไฟเขียว! ผลศึกษา 116 โครงการ "ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้" วงเงินกว่า 1 แสนล้าน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สภาพัฒน์กำลังเร่งศึกษาศักยภาพทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งเร่งค้นหาว่าจะมีอะไรที่เป็นปัจจัยสร้างความเปลี่ยนแปลง (Game Changer) ที่ต้องใส่เข้าไปเพื่อให้เกิดการต่อยอดยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ให้สูงขึ้นได้

 

[caption id="attachment_385141" align="aligncenter" width="359"] ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.[/caption]

"แต่ละพื้นที่มีศักยภาพของตนเอง เช่น โครงการ Northern Food Valley ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ แหล่งปศุสัตว์ในอีสาน ผลิตผลจากอ้อยแถบขอนแก่น-อุดรฯ ส่วนอีสานใต้ก็เป็นแหล่งมันสำปะหลัง เป็นต้น กำลังเร่งศึกษาว่า ตัวไหนมีศักยภาพที่จะต่อยอดขึ้นไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเราศึกษาทุกพื้นที่ จากเดิมที่พึ่งฐานเดียว คือ อีอีซี-กรุงเทพฯ ต่อไปจะมี SEC ของภาคใต้ และกำลังเร่งของภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะทยอยประกาศได้ภายในปีงบประมาณ 2562 นี้"

เลขาฯสศช. กล่าวอีกว่า โครงการอีอีซีเป็นการตั้งเป้าหมายการพัฒนา แล้วรัฐลงทุนเพื่อให้อุตสาหกรรมเป้าหมายยกระดับเทคโนโลยีสู่ขั้นสูง (นิว เอส เคิร์ฟ) แต่ SEC พัฒนาโดยต่อยอดจากศักยภาพของแต่ละพื้นที่เพื่อยกระดับให้สูงขึ้น จากการประชุม ครม.สัญจร ที่ชุมพรเมื่อกลางปีที่แล้ว ครม. เห็นชอบและให้ศึกษาเพิ่มเติมนั้น พบว่า ระนอง-ชุมพร และสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช มีศักยภาพจากชัยภูมิที่ตั้ง


MP21-3424-A

ระนองมีศักยภาพทั้งเป็นประตูการค้าด้านตะวันตก เพราะมีท่าเรืออยู่แล้ว และเที่ยวเกาะแก่งในทะเลอันดามัน ขณะที่ รัฐได้ลงทุนรถไฟทางคู่สายใต้อยู่ โดยช่วงกรุงเทพฯ-ชุมพรจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีนี้ และเลียบอ่าวไทยลงไปถึงปาดังเบซาร์ แล้วยังมีโครงการถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทยจากเพชรบุรี-ชุมพร (ไทยแลนด์ริเวียร่า)

"เพียงลงทุนทำถนน 4 เลน และรถไฟทางคู่จากชุมพรไปเชื่อม ทำให้ระนองเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของประเทศได้ทันที โดยไม่ต้องรอพึ่งคนอื่น สามารถไปค้าขายกับกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล (กลุ่มบิมสเทค) เช่น เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต ลดระยะทางและเวลาลงมากกว่าครึ่งเทียบกับส่งจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยส่งสินค้าจากแหล่งผลิตไทยใส่ตู้รถไฟไปลงท่าเรือระนอง หรือ รับสินค้าและวัตถุดิบที่มาถึงท่าเรือระนองขึ้นรถไฟทางคู่ ส่งเข้ากรุงเทพฯ หรือไปผลิตต่อที่อีอีซี"

 

[caption id="attachment_385159" align="aligncenter" width="500"] สภาพัฒน์เร่งเคาะระเบียงเศรษฐกิจ "เหนือ-อีสาน" เพิ่มเพื่อน [/caption]

ถนน 4 เลน ชุมพร-ระนอง จะเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวเลียบฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยที่ยาวจากเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร แล้วข้ามไปฝั่งอันดามันที่ระนอง ที่ต่อลงไปพังงา ภูเก็ต กระบี่ ทำให้เส้นทางท่องเที่ยวเลียบฝั่งทะเลของไทยยาวอีกมาก คู่ไปกับเส้นทางลงใต้เลียบอ่าวไทยที่มีอยู่แล้ว

เลขาฯสภาพัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังเป็นแหล่งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และการประมง ที่เวลานี้ปาล์มน้ำมันราคาต่ำ เรายังแปรรูปได้เพียงขั้นต้น ทั้งที่เมื่อใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสกัดเป็นเคมีภัณฑ์จากธรรมชาติ (โอลีโอเคมิคัล) สามารถสกัดเป็นสารพีซีเอ็ม ใช้ผลิตฉนวนกันความร้อนที่ตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก เป็นต้น


MP24-3245-1

"เราแปรรูปเบื้องต้นแล้ว ขนขึ้นรถไฟทางคู่ ส่งไปเข้าโรงงานปิโตรเคมีในอีอีซีที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ต้องลงทุนใหม่ เพราะใช้เม็ดเงินมหาศาล รวมทั้งประชาชนก็ไม่ต้องการให้มีอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ ก็จะทำอุตสาหกรรมเบา การแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ประชาชนจะได้ขายยาง ปาล์ม สินค้าเกษตรในราคาที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำเมืองน่าอยู่"

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการ SEC ระยะ 4 ปี (2562-2565) ประกอบด้วย 116 โครงการ วงเงินรวม 106,790.13 ล้านบาท สศช. คาดจะทำให้จีดีพีใน SEC โตอย่างน้อย 5% ต่อปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่ม 1.2 ล้านคนต่อปี มีการลงทุนเพิ่มประมาณ 200,000 ล้านบาท ใน 10 ปีแรก เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ สังคม และบริการ เชื่อมโยงพื้นที่โดยรอบและกับระดับภูมิภาคจนถึงประเทศ


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,441 วันที่ 3 - 6 ก.พ. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC เชื่อมการค้า 3 ประเทศ หนุนภาคเหนือตอนล่างบูม
สศช.หนุน 15 ระเบียงเศรษฐกิจ เร่งออกแบบและลงทุนระบบขนส่งให้เสร็จใน 5 ปี

เพิ่มเพื่อน โปรโมทแทรกอีบุ๊ก