สังคมสูงวัยหนุนธุรกิจประกันโต6%

07 ก.พ. 2562 | 02:00 น.
สังคมผู้สูงอายุ หนุนประกันอุบัติเหตุโต แต่กรมธรรม์สุขภาพยังมีข้อจำกัด เหตุจ่ายครั้งเดียวอัตราเคลมสูง ส่งผลให้เบี้ยแพง เหตุสังคมไทยผูกพันครอบครัวต่อปี เผย 3 สมาคมเร่งหารือแนวปฏิบัติตามกฎหมายคุมค่ายาค่าหมอหวังลดค่าเบี้ย

รายงานผู้สูงอายุในรอบหลายปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยมีรายได้ตํ่ากว่าเส้นความยากจน และจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่า ผู้สูงอายุมีรายได้หลักจากบุตรลดน้อยลงจากเดิม 37% ในปี 2557 เหลือเพียง 35% ในปี 2560 ขณะที่ผู้สูงอายุมีรายได้จากการทำงานลดลงจาก 35% ในปี 2554 เหลือ 31% ในปี 2560 ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพในปี 2560 มีจำนวน 8.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 1.5 เท่าจากปี 2552 และผู้สูงอายุไทยที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจาก 6% ในปี 2545 เป็น 11% ในปี 2560 และสัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเพิ่มสูงขึ้นเป็น 21% ในปี 2560

MP20-3442-AAA

การเตรียมความพร้อมก่อนเป็นผู้สูงวัยในอนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่ม Pre-aging คือผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี เพราะไม่เกิน 20 ปี ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ คือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ดังนั้นการวางแผนทางการเงินและดุูแลสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับพบว่า ตลาดประกันสุขภาพมีอัตราขยายตัวไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยภาพรวมตลาดประกันกลุ่มผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพียง 10-15% ของพอร์ตธุรกิจประกันทั้งหมด ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่บริษัทประกันหรือธุรกิจประกันให้ความสนใจมากนัก โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นการออมระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และที่เห็นเติบโตแรงและแข่งขันกันดุเดือดจะเป็นแบบประกันชีวิตควบการลงทุน(Unit Link)

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุไทยเป็นกลุ่มที่ผูกพันครอบครัว จึงไม่นิยมซื้อประกัน ขณะที่กลุ่มที่ต้องการซื้อ แต่กำลังไม่พอ เพราะส่วนใหญ่จ่ายเบี้ยครั้งเดียวและมีราคาสูง ประกอบกับคนไทยเฉลี่ยมีอายุยาวขึ้น จากเดิม 73 ปี เป็น 80-83 ปีหรือบางรายเกิน 90 ปี ทำให้แบบประกันต้องขยายอายุออกไป ซึ่งค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปีและมีราคาแพง ทำให้เบี้ยสูงตาม ดังนั้น ผู้เอาประกันจะต้องวางแผนการออมระยะยาวขึ้นตั้งแต่ 30 ปี โดยภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นให้เกิดการออมอย่างมีระบบ หรือการใช้แรงจูงใจ (Incentive)เช่น ช่วยออมให้เงินเข้าระบบเลย เพื่อในอนาคตจะไม่เป็นภาระของภาครัฐ เพราะประกันจะเข้ามาช่วยบริหารสุขภาพ และมีระเบียบช่วยเรื่องการออมได้ แต่จะหวังผลตอบแทนสูงๆ เหมือนในอดีตคงจะยาก

นายอานนท์ วังวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัยฯ หรือ BKI เปิดเผยว่า แนวโน้มกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลยังเป็นที่นิยมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีการทำตลาดกว้างขวางและค่าเบี้ยไม่สูง เมื่อเทียบกับกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ยังมีข้อจำกัดหลายเรื่องเช่น บุคคลต้องมีประวัติทำประกันพื้นฐานตั้งแต่วัยหนุ่ม เพื่อเก็บประวัตหรือไม่มีโรคประจำตัวและค่าเบี้ยยังสูง เพราะค่าสินไหมเพิ่มลดตามอัตราการเคลม

“สังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตธุรกิจประกันวินาศภัยราว 6% ต่อปี โดยกรมธรรม์ประกันสุขภาพเติบโตประมาณ 10% ต่อปี แต่อัตราการเคลมเบี้ยสุขภาพที่ค่อนข้างสูง ทำให้หลายบริษัทขาดทุน หรือไม่สามารถทำกำไรได้ เพราะบางแห่งมีการเคลมสูง 70% ซึ่งขณะนี้สมาคมฯกำลังเร่งจัดตั้งศูนย์อินชัวรันส์ บูโรเพื่อเชื่อมข้อมูล จะได้รู้เบื้องต้นเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ทำประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพว่า อยู่ในช่วงอายุใด อัตราการเคลมเท่าไหร่ เพราะขณะนี้ต่างคนต่างทำ รู้เฉพาะบริษัทตัวเอง”

อังกูร

ด้านนายอังกูร ศรีกัลยาณบุตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Marketing Officer บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังหวังพึ่งสวัสดิการจากภาครัฐ หรือพึ่งบุตรหลานเป็นหลัก แต่ทราบกันดีว่า ในอนาคตการพึ่งพิ่งสิ่งเหล่านี้ยากขึ้น ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นปัญหาระดับชาติ บริษัทจึงอบรมตัวแทนให้สามารถชี้แจง แนะนำให้ลูกค้าตระหนักและเตรียมตัวเมื่อต้องเข้าสู่ภาวะผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่จะผลักดันให้ตลาดประกันผู้สูงอายุเติบโต คือกลุ่มคนที่มีอายุประมาณ 45 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีเงินออม เข้าใจถึงภาระในการดูแลสุขภาพและการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ สำหรับกลุ่มที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณไปแล้ว ต้องมีแบบประกันชีวิตที่มีความยืดหยุ่นในการรับประกันทั้งทางด้านชีวิตและสุขภาพ จึงจะตอบสนองความต้องการคนกลุ่มนี้ได้ตรง

บาร์ไลน์ฐาน

อย่างไรก็ตาม การก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย เอื้อให้ธุรกิจประกันชีวิตมีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีรายได้และเงินออมมากเพียงพอที่จะเลือกวางแผนทางการเงิน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ผู้สูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ และจะเห็นว่าปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตพยายามส่งเสริมและสนับสนุนลูกค้าในเชิงป้องกัน หรือ Preventive มากกว่า เพื่อให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดี เจ็บป่วยน้อยลง และกลายเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงในอนาคต ซึ่งเป็นผลดีต่อลูกค้าและสุขภาพโดยรวมของคนในประเทศ

สำหรับตลาดผู้สูงอายุ ในแง่การพัฒนา Package Product ต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งด้านความคุ้มครองชีวิต ค่ารักษาพยาบาล อุบัติเหตุ และบริการต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองทุก segment ของผู้สูงอายุ บนความเสี่ยงที่บริษัทรองรับได้

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,442 วันที่  7 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

595959859