บ้าน (ไม่ถึง) ล้านหลัง เข็นสมาร์ทโฮมเสียบแทน

16 ก.พ. 2562 | 02:56 น.
คอลัมน์ผ่ามุมคิด

“นับจากนี้การเคหะแห่งชาติ จะมีส่วนช่วยประเทศชาติ ได้อีกมากคนที่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ต่อไป...จะมีโอกาสเข้าถึงทั้งบ้านและสินเชื่อ”

นี่คือคำยืนยันของผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) “ธัชพล กาญจนกูล” กับการสวมบทบาทดีเวล็อปเปอร์มือหนึ่งของรัฐ พร้อมทั้งได้หยิบเอาประสบการณ์ด้านการเงินที่เคยสั่งสมมาจากแบงก์รัฐ ธนาคารออมสินดัดแปลงคลุกเคล้าให้เข้ากับการผลิตบ้าน ได้อย่างผสมกลมกลืน ส่งผลให้กว่า 2 ปี สามารถบริหารองค์กรนี้ จนมีกำไรพุ่งถึง 100% เมื่อเทียบระหว่าง ปี 2561 กับ ปี 2559

[caption id="attachment_384890" align="aligncenter" width="424"] ธัชพล กาญจนกูล ธัชพล กาญจนกูล[/caption]

บ้าน (ไม่ถึง) ล้านหลัง

ทั้งนี้ สำหรับโครงการใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ “บ้านล้านหลัง” เพื่อสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย ธัชพล สะท้อนว่าเกรงว่า จะไม่มีบ้านถึงล้านหลัง ตามชื่อโครงการ เนื่องจากเอกชนไม่พัฒนาของใหม่ เพราะที่ดินแพง เพียงนำโครงการเก่าเข้าร่วม ระบายสต๊อก และหันไปพัฒนาคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้ากำไรคุ้มกว่า ขณะที่ทรัพย์แบงก์บ้านมือสอง ถือว่าขายดีจนใกล้หมด ส่วนการเคหะฯ เองได้มีการปรับการออกแบบให้ทั้งหน้าตาบ้านและราคาเกือบจะใกล้เคียง เอกชนในราคา 6-7แสนบาทต่อหน่วยแต่สำหรับคนผู้มีรายได้น้อย ถึงอย่างไรก็ผ่อนไม่ไหว ซึ่งตัวเลขจองสิทธิ์สินเชื่อ 1.27 แสนล้านบาท จะผ่านเพียง 50% เพราะมีรายได้ เฉลี่ย 25,000 บาทต่อเดือน นอกนั้นไม่ผ่านเกณฑ์

เข็นสมาร์ทโฮมเสียบ

ทางออกจึงต้องนำ บ้านโครงสร้างเหล็ก หรือสมาร์ทโฮม เข้ามาเสริมบ้านล้านหลัง เพื่อให้โครงการเดินได้ในราคาไม่เกิน 2 แสนบาทต่อหน่วย และผ่อนกับธนาคารต่อเดือนไม่เกิน 2,000 บาท สามารถปรับแต่งต่อเติม ใส่ฉนวนกันความร้อน เป็นบ้านประหยัดพลังงาน อีกทั้งปรับภายในบ้าน กันพื้นที่ รองรับผู้สูงอายุ นำนวัตกรรมจัดอุปกรณ์ให้สอดรับกับการใช้สอย และสามารถอยู่รวมกับคนวัยหนุ่มสาวได้ ใช้เวลาประกอบเพียง 2-3สัปปดาห์ ไม่ต่างกับบ้านน็อกดาวน์

“หากสามารถทำบ้านให้ถูกลงได้แล้ว และสามารถผ่อนเดือนละ 1,500 บาท ชาวบ้านก็มีเงินเหลือ เพราะแบงก์จะดูความสามารถในการชำระ ว่ามีเงินเหลือพอชำระหนี้หรือไม่ ถ้าโครงการนี้ ตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อย ก็เท่ากับตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 20 ปี ของการเคหะฯด้วย เพราะหากยังพัฒนาบ้านในรูปแบบเดิม รัฐให้ทำแสนหลังทำอย่างไรก็ไม่ถึง”

ตั้งกองทุนปล่อยกู้

นอกจากการพัฒนาบ้านราคาประหยัด ล่าสุดยังตั้งกองทุน 5,200 ล้านบาท สำหรับผู้มีรายได้น้อย ล่าสุดผ่านความเห็นชอบ จาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะเป็นผลดี หากลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อ จากสถาบันการเงิน ก็สามารถกลับมาใช้สิทธ์กู้กองทุนได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีคนกลาง จากหน่วยงานฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องเป็นผู้อนุมัติ ลดความเสี่ยง โดยจะนำสกอริ่งของแบงก์มาใช้พิจารณา คือ รายได้ และความสามารถในการชำระ แต่จะนําเรื่องเครดิตบูโรมาตรวจจับ คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ ปลายปีนี้ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อช่วยให้คนในสังคมเท่าเทียมลดเหลื่อมลํ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เราเอาสกอริ่ง แบงก์มาใช้ แต่จะลดความสำคัญของเครดิตบูโร เพียงแต่ดูพฤติกรรมเขาแทนเพราะต้องเรียนว่า กลุ่มคนเหล่านี้เงินเพียง 2,000 บาท ที่อาจไม่ได้ชำระ หนี้บัตรเครดิต แบงก์ก็ขึ้นแบล็กลิสต์ ทั้งๆที่พฤติกรรมเขาพร้อมจ่าย หรือบางราย แบงก์ไม่ปลดเครดิตบูโร ทั้งๆที่เขาชำระหนี้หมดแล้ว”

ผู้ว่าการกคช. ยํ้าว่าปีนี้การเคหะฯ ครบรอบ 46 ปี พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยกว่า 7 แสนหน่วย และนับจากนี้จะยกระดับการพัฒนา ที่อยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ๆ ไปพร้อมๆกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในประเทศ ให้สมกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นองค์กรหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย”

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,442 วันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2562

595959859