เศรษฐกิจ Q1 แย่กว่าที่คาด ผลสำรวจเอสเอ็มอีกำลังซื้อหดรายได้ลดกว่า 28.9%

21 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลการสำรวจเอสเอ็มอีไตรมาสแรก เสียงส่วนใหญ่ฟันธงภาวะเศรษฐกิจแย่กว่าช่วงปลายปีก่อน จากปัจจัยกำลังซื้อในประเทศหดตัว เจอภัยแล้งที่รุนแรง การแข่งขันที่สูงขึ้น มาตรการอัดฉีดของรัฐบาลยังไม่ทั่วถึง รอลุ้นไตรมาส 2 ความเชื่อมั่นเริ่มดี คาดทั้งปี จีดีพีเอสเอ็มอีขยายตัวแค่ 2.6%

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี จำนวน 437 ราย กระจายอยู่ใน 10 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ครอบคลุมใน 29 สาขา ทั้งภาคการผลิต บริหาร และการค้าปลีก ค้าส่ง ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการในสัดส่วน 41.6% ชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ในสภาวะที่แย่ลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อน และอีก 10.3% เห็นว่าแย่ลงมาก ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพให้เห็นว่าเอสเอ็มอียังไม่มีความความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะดีขึ้นได้และส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของเอสเอ็มอียังติดลบที่ 24.9%

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาทางรัฐบาลจะพยายามอัดฉีดเม็ดเงิน ในมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีแล้วก็ตาม แต่การช่วยเหลือนั้นยังครอบคลุมจำนวนเอสเอ็มอีที่มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านรายได้ การช่วยเหลือยังอยู่ในวงจำกัดเพียง 1 ใน 4 ของระบบที่มีอยู่เท่านั้น

โดยความเห็นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัย กำลังซื้อในประเทศที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ปัญหาภัยแล้งที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าของตลาดลดลงตาม อีกทั้ง มีการแข่งขันที่สูงมากขึ้น ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยยังติดลบอยู่

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากรายได้ของผู้ประกอบการในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าในสัดส่วนถึง 57.8% จากจำนวนผู้แสดงความเห็น มีรายได้ลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 28.9% มีเพียง 9.2% เท่านั้นที่เห็นว่ามีผลประกอบการดีขึ้น โดยเห็นว่ารายได้ที่ลดลงนั้น 70.4% เกิดจากสภาพตลาดภายในประเทศที่มีกำลังซื้อลดลง 15.1% เกิดจากภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้ 5% มาจากสภาพตลาดในต่างประเทศที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร 4.5% มาจากต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น และอีก 5% มาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ขาดบุคลากร ขาดเงินทุนหมุนเวียน และขาดช่องทางการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับเอสเอ็มอีบางกลุ่มที่สามารถมีผลประกอบการดีขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 9.2% จากการสำรวจนั้น มีปัจจัยมาจากการที่ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว และหาตลาดใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง อีกทั้งมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่การปรับราคาสินค้านั้น ผู้ประกอบการจะไม่นำมาใช้

ส่วนแนวโน้มการทำธุรกิจในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้นั้นความเห็นส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการเห็นว่า น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงไตรมาสแรก โดยมองว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้นมีสัดส่วนสูงขึ้น 21.8% ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจแย่ลงมีสัดส่วนเพียง 25.8% เท่านั้นและส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของเอสเอ็มอีปรับตัวขึ้นมาดีขึ้น แต่ยังติดลบอยู่ที่ 6.3%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเอสเอ็มอีจะคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะดีขึ้นก็ตาม แต่มีข้อสังเกตว่า การที่เอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการลดค่าใช้จ่ายมากกว่าเพิ่มรายได้ สะท้อนให้เห็นว่า เอสเอ็มอีอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นตามที่คาด และแม้ว่าเอสเอ็มอีจะยังทำธุรกิจได้อยู่ แต่ก็เป็นเพียงการประคองตัวเองให้อยู่รอดได้เท่านั้น ไม่ได้มีแผนการพัฒนาธุรกิจในระยะยาวที่ชัดเจน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเอสเอ็มอี (จีดีพี) ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.6% ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายๆ ปี จากปีก่อนอยู่ในระดับ 2.8%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559