ไอเดียเจ๋ง ‘นวัตกรรมสีเขียว’

09 ก.พ. 2562 | 04:20 น.
ไอเดียเด็ดๆ ของ นักเรียน “โรงเรียนสตรีพัทลุง” กับผลงาน “หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวนํ้า” และผลงาน “Clean Oyster” จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ จากโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่ 3 ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันจัดขึ้นในหัวข้อ “Green Innovation นวัตกรรมโลกสีเขียว”

หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จากโรงเรียนสตรีพัทลุง

 

ทำไมผลงาน 2 ชิ้นนี้ถึงได้รางวัลชนะเลิศ?

จากโจทย์เรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ ช่วยการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีทีมผู้เข้าแข่งขันถึง 399 ทีม

รางวัลชนะเลิศสายสามัญ จากผลงานหุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวนํ้า เกิดจากการพัฒนาผลงานของ 2 หนุ่มเมกเกอร์ คือ “มานพ คงศักดิ์” และ “สุรศักดิ์ ฟองหิรัญศิริ” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีพัทลุง พวกเขาเล่าว่า ใช้เวลาคิด ลองผิดลองถูกกับผลงานชิ้นนี้มากว่า 6 ปี เริ่มจากความเดือดร้อนที่ได้รับ เพราะโรงเรียนที่อยู่ติดกับคลองนํ้าเน่า ที่ส่งกลิ่นเหม็นสร้างความรำคาญและทำลายสุขภาพต่อ เด็กนักเรียนและคนในชุมชนโดยรอบ

J1DX5643

พวกเขาเริ่มศึกษาหาต้นเหตุ และพบว่า กลิ่นเหม็น เกิดจากคราบนํ้ามันที่ถูกปล่อยทิ้งลงในคลอง ซึ่งคราบนํ้ามันที่ลอยอยู่บนผิวนํ้า จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในนํ้าลดลง และปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชนํ้าต่างๆ เปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในนํ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้วนส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในนํ้าที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ไม่ว่าจะเป็น ปลา สัตว์หน้าดิน และอื่นๆ เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหาร ก่อให้เกิดนํ้าเน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็น

เด็กๆ จึงค้นคิดประดิษฐ์หุ่นยนต์ขจัดคราบสิ่งสกปรกบนผิวนํ้า โดยตัวหุ่นยนต์มีการติดกล้องไว้ด้านบน เพื่อใช้ตรวจสอบว่ามีคราบนํ้ามันอยู่บริเวณใดบ้าง ทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยากได้ ตัวหุ่นยนต์นี้มีลูกกลิ้งที่ใช้สำหรับเก็บคราบนํ้ามัน ซึ่งทำงานโดยแบตเตอรี่และโซลาร์เซลล์ ที่สามารถทำงานได้นานถึง 30 นาที

ส่วนรางวัลชนะเลิศสายอาชีพ ผลงาน Clean Oyster จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เป็นไอเดียของ “นูรุดดีน เจะปี” ชั้น ปวส.1 และ “วัฒนพงศ์ เพชรรัตน์” ชั้นปวส. 2 พวกเขาบอกว่าได้ไอเดียมาจากความต้องการที่จะยกระดับคุณภาพ “หอยนางรม” สินค้าขึ้นชื่อของสุราษฎร์ธานี ที่ก่อนหน้านี้มียอดขายตกลงมาก เพราะมีคำเตือนเรื่องการบริโภคหอยนางรมที่อาจล้างไม่สะอาดเพียงพอ

พวกเขาลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรมฟาร์มหอยนางรม นำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเครื่อง Clean Oyster ที่มีกลไกทำความสะอาดหอยด้วยระบบคลื่นนํ้า

ระบบคลื่นนํ้า จะทำให้หอยรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอาศัยอยู่ในแหล่งกำเนิดนํ้าตามธรรมชาติ หอยนางรมก็จะเปิดปาก ให้คลื่นนํ้าสามารถเข้าไปพาสิ่งสกปรกออกมา หลังจากนั้น ระบบกรอง 3 ชั้นที่ติดตั้งในเครื่อง Clean Oyster ระบบกรอง 3 ชั้น

ระบบการทำงานของเครื่อง Clean Oyster ใช้สาหร่ายพวงองุ่น ช่วยดูดซับแอมโมเนียจากตัวหอย หลังจากนั้นจะมีการกรองหยาบ กรองละเอียดในบ่อที่ 1 และใช้หลักการนํ้าล้นให้ไปสู่บ่อที่ 2 ซึ่งมีไบโอบอลทำหน้าที่สร้างออกซิเจนและดักจับสิ่งสกปรกเหนือผิวนํ้า สุดท้ายจะถูกส่งไปที่บ่อกรองที่ 3 ซึ่งเป็นบ่อพักนํ้าที่มีแสงยูวี ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกทั้งหลายเพื่อนำนํ้ากลับไปใช้ใหม่ ทำให้มั่นใจได้เลยว่าหอยนางรมที่ถูกทำความสะอาดจากเครื่องนี้สะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภคจริงๆ

นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์  2 ชิ้นนี้ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ที่เริ่มจากการคำนึงถึงผู้ใช้งาน ดูความต้องการของผู้ใช้ หลังจากนั้น พัฒนางานให้ตอบโจทย์ดังกล่าวจริงๆ

หน้า 22-23 ฉบับที่ 3,442 วันที่  7 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว