โละ CTX สุวรรณภูมิ! ทอท. เปิดประมูลจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดรุ่นใหม่ ค่า 2.88 พันล้าน

05 ก.พ. 2562 | 01:00 น.
ทอท. เดินเครื่องโละ CTX สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดขายเอกสารประกวดราคาจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดรุ่นใหม่ กำหนดสเปกความเร็วสายพานไม่น้อยกว่า 0.5  เมตรต่อวินาที วงเงินลงทุน 2,880 ล้านบาท ยันการปรับเปลี่ยนระบบไม่กระทบการให้บริการของสายการบิน เหตุปรับปรุงสายพานแค่บางส่วนไม่ได้ทั้งเส้น แถมดำเนินการช่วงออฟพีค 

น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างเปิดขายซองประกวดราคาโครงการจ้างปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิดและงานจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระของอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 2,880 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 21 ม.ค. - 26 มี.ค. 2562 โดยกำหนดยื่นข้อเสนอและเสนอราคาในวันที่ 27 มี.ค. 2562 คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลในเดือน พ.ค. 2562 และใช้เวลาปรับปรุงติดตั้งระบบประมาณ 1 ปี 6 เดือน - 2 ปี

การปรับปรุงระบบใหม่ดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัตถุระเบิดจะเร็วขึ้นจากปัจจุบันใช้รุ่นที่มีความเร็วสายพานที่ 0.1 เมตรต่อวินาที ตรวจกระเป๋า 7 ใบต่อนาที ปรับมาเป็นความเร็วที่ 0.5 เมตรต่อวินาที ทำให้ตรวจกระเป๋าได้เพิ่ม เป็น 24  ใบต่อนาที ส่งผลให้ส่วนสายพานกระเป๋าจะมีความเร็วในการลำเลียงเพิ่มขึ้นจาก 10,000 ใบ/ชั่วโมง เป็น 20,000 ใบ/ชั่วโมง รองรับจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิได้ได้ปีละ 60 ล้านคน

โดยเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด (EDS) กำหนดสเปกเครื่องรุ่นที่มีความเร็วสายพานไม่น้อยกว่า 0.5 เมตรต่อวินาที และต้องได้รับการรับรองจาก Transportation Security Administration (TSA)ของสหรัฐอเมริกา และการอนุมัติจากECAC Standard-3 หรือสูงกว่า ซึ่งเป็นมาตรฐานของยุโรป ซึ่งด้วยความเร็วสายพานที่เร็วขึ้น ทำให้จะเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดลดลงเหลือ 16 ตัว

"การปรับเปลี่ยนระบบดังกล่าว จะไม่กระทบการให้บริการสายการบิน ชี้ไม่ได้เปลี่ยนสายพานทั้งหมดแต่เป็นการปรับปรุงสายพานลำเลียงกระเป๋าในจุดที่ี่เปลี่ยนเครื่องEDS  รวมถึงการปรับปรุงคอมพิวเตอร์แม่ข่าย เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ภายใต้ความเร็วในการตรวจสอบที่ 0.5 เมตรต่อวินาทีเท่านั้น สายพานลำเลียงกระเป๋า ก็ยังคงเป็นสายพานเส้นเดิม  ส่วนการติดตั้งเครื่องEDS ระบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นของยี่ห้อใดที่ชนะการประมูล ก็จะทยอยติดตั้งทีละตัว และติดตั้งในช่วงออฟพีค ที่จะไม่กระทบการให้บริการของสายการบิน ที่ยังคงให้บริการได้ตามปกติ และไม่ได้ถึงขนาดต้องมีการปิดเคาน์เตอร์ แต่อย่างใด" นายสุธีรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การที่สนามบินสุวรรณภูมิจะดำเนินเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX 9400 DSI เป็นระบบใหม่ทั้งหมด เนื่องจากผู้ผลิตได้ยกเลิกการผลิตเครื่อง CTX 9400 มากว่า 2-3 ปีแล้ว หากสนามบินสุวรรณภูมิยังใช้ระบบเดิมต่อจะมีปัญหาเรื่องซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ ขณะเดียวกันยังจะมีการปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า เนื่องจากเป็นระบบเก่าที่ใช้งานมากกว่า 12 ปี

อีกทั้งผู้เข้าร่วมประมูล ต้องจะต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรมรวม (IP) ด้วย หากไม่ลงนามในข้อตกลงคุณธรรมจะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการเปิดประมูล โดยพิจารณากันที่เทคโนโลยีที่ทอท.ต้องการเป็นหลัก  เพื่อไม่ให้ครั้งนี้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนการประมูลซีทีเอ็กซ์ในอดีต ในกรณีที่การผูกขาดให้กับโบรกเกอร์เพียงรายเดียว ที่เข้ามากินหัวคิวกับระบบCTX 9400 มาเป็นเวลานาน
ทั้งนี้จากสเปกดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมี 2 บริษัทที่เข้าข่ายมีคุณสมบัติในการนำเสนอเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดในครั้งนี้ ได้นี้ คือ 1.Smiths Detection ที่ปัจจุบันเป็นตัวแทนของCTX ในไทย และ 2.กลุ่มล็อกซ์เลย์ ที่เป็นตัวแทนของผู้ผลิตเครื่องEDS ของ L3 ในไทย
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการสายการบิน กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนระบบที่เกิดขึ้น ในส่วนของการเปลี่ยนเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด แทนเครื่องเดิมที่มีการยกเลิกการผลิตและจะมีปัญหาเรื่องอะไหล่ สายการบินไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่กังวลเรื่องของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ที่รู้สึกกังวลว่าจะกระทบต่อการให้บริการของสายการบิน จนถึงขั้นต้องปิดเคาน์เตอร์เป็นบางเวลาหรือไม่ จึงอยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้ให้สายการบินได้เตรียมรับมือ รวมถึงมีมาตราการเยียวยา หากกระทบต่อการให้บริการของสายการบิน

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว