รัฐคุมกำเนิดยักษ์ กฟผ. หากินสายส่ง-เอกชนเฮ!!

04 ก.พ. 2562 | 13:33 น.
040262-2032

กฟผ. หมดสิทธิโต หลัง กพช. ไฟเขียวแผนพีดีพีใหม่ ลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าเหลือแค่ 24% ประเคนโรงไฟฟ้าใหม่ 8.3 พันเมกะวัตต์ ให้เอกชนไปก่อสร้างแทน หมดสิทธิแข่งขัน แต่จะมีรายได้จากค่าบริการสายส่งเข้ามาเสริมในอนาคต

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพีฉบับใหม่ (2561-2580) โดยเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบมากขึ้น แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงจาก 35% ในแผนเดิม เหลือประมาณ 24% จากกำลังผลิต 77,211 เมกะวัตต์ และถือเป็นครั้งแรกที่ กพช. กำหนดให้มีการใช้พีดีพีนี้ไปถึง 5 ปี จากเดิมที่กำหนดให้มีการทบทวนใหม่ทุก 2 ปี

 

[caption id="attachment_384384" align="aligncenter" width="503"] ©IO-Images ©IO-Images[/caption]

สัดส่วนกำลังการผลิตของ กฟผ. ที่ลดลงเหลือ 24% กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในวงการพลังงานเป็นอย่างมาก ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนต่อการขยายธุรกิจ แต่ไปคุมกำเนิด กฟผ. ไม่ให้เติบโต ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 56 ที่จะต้องดูแลความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศ หรือ มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ ไอพีพี 8,300 เมกะวัตต์ เป็นเค้กก้อนโต ที่แน่นอนว่าจะตกอยู่ในมือเอกชนจากการเปิดประมูลที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ กฟผ. จะทำหน้าที่เพียงรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไว้ จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องเดิม 600 เมกะวัตต์ เพิ่มกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าน้ำพองเป็น 650 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 1,400 เมกะวัตต์ และทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 2,100 เมกะวัตต์


Screen-Shot-2561-07-15-at-16.22.47

ส่วนกำลังผลิตใหม่ที่เข้ามาจะมีเพียงโรงไฟฟ้าสูบกลับ 500 เมกะวัตต์ และโซลาร์ลอยน้ำตามเขื่อนต่าง ๆ อีก 2,656 เมกะวัตต์ เท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ว่าทาง กฟผ. จะมีการทักท้วงไปแล้ว แต่ทางกระทรวงพลังงานไม่ยอมรับฟังและชี้แจงตอบกลับมาว่า แผนพีดีพีดังกล่าวไม่ได้ทำให้กำลังการกำลังการผลิตของ กฟผ. ที่มีอยู่หายไปจากปัจจุบัน และยังคงมีรายได้หรือกำไรนำส่งรัฐไม่ได้ลดลงไปจากที่เป็นอยู่ แต่จะมีรายได้ใหม่มาจากค่าบริการสายส่งไฟฟ้าเข้ามาทดแทนจากการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และการเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงเหลือ 24% จากกำลังการผลิตที่ 7.7 หมื่นเมกะวัตต์ เทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ 5 หมื่นเมกะวัตต์ เมื่อพิจารณาตัวเลขแล้วใกล้เคียงกับกำลังการผลิตของ กฟผ. ในปัจจุบัน หากโรงไฟฟ้าใหม่กำลังผลิต 8,300 เมกะวัตต์ ทางภาครัฐเปิดให้ กฟผ. ประมูลแข่งขันกับเอกชนได้ ก็จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ เพราะสามารถทำต้นทุนได้ถูกกว่า

 

[caption id="attachment_384040" align="aligncenter" width="500"] รัฐคุมกำเนิดยักษ์ กฟผ. หากินสายส่ง-เอกชนเฮ!! เพิ่มเพื่อน [/caption]

ส่วนผลกระทบต่อรายได้ของ กฟผ. ในอนาคตนั้น เชื่อว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ยังเติบโตจากโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่จำเป็นต้องมีในทุกภาคขณะเดียวกัน กฟผ. ลงทุนโครงข่ายระบบส่งเพียงรายเดียวจึงมีรายได้จากการคิดค่าบริการเพิ่มขึ้น

"ในฐานะพนักงาน กฟผ. ไม่พึงพอใจตัวเลขที่ลดลงนัก เพราะตามรัฐธรรมนูญระบุถึงสัดส่วนเพื่อความมั่นคงต้องไม่น้อยกว่า 50% แต่ก็ต้องยอมรับ เพราะสายงานบริหารชี้แจงแล้วว่ายังมีโอกาสได้โครงการใหม่ รวมทั้งขยายโครงการระบบส่งไปยังภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า"

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สัดส่วนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ลดลงเหลือ 24% ไม่ได้หมายความว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จะลดลงจากปัจจุบัน เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2580 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7.7 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่ โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาในระบบในอนาคต ทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุมัติให้ กฟผ. ทำ หรือ เปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขัน เบื้องต้น หากพบว่า โรงไฟฟ้าที่จะเปิดใหม่อยู่ในพื้นที่ของ กฟผ. จะอนุมัติให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ อาทิ โรงไฟฟ้าที่สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 1.4 พันเมกะวัตต์ ซึ่งในแผนพีดีพี 2018 ระบุว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี 2561-2580 อยู่ที่ 8.3 พันเมกะวัตต์ ดังนั้น กฟผ. ยังมีโอกาสได้รับอนุมัติโครงการเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ ที่จะพิจารณาศักยภาพของ กฟผ. ก่อน


15-3439-040262-2016

ทั้งนี้ แม้ว่า กฟผ. จะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า แต่ กฟผ. ก็จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศอย่างแน่นอน การบริหารจัดการไฟฟ้ายังคงเป็นหน้าที่ของ กฟผ. ขณะการลงทุนโครงข่ายระบบส่งก็ยังเป็น กฟผ. ที่ลงทุนเพียงรายเดียว ดังนั้น หากมีการซื้อขายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นก็ต้องผ่านสายส่งของ กฟผ. เช่นกัน นอกจากนี้ ตามแผนพีดีพี 2018 ยังมอบให้ กฟผ. ศึกษาการจัดทำแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศ เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงระบบจำหน่าย เพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต (Grid Modernizaton)


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,439 วันที่ 27 - 30 ม.ค. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กฟผ. ติดตั้งระบบพ่นละอองไอน้ำ ช่วยลดฝุ่น PM 2.5
อยู่บนภู : ใคร สวา(ปาล์ม) นํ้ามัน กฟผ.


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก