พาณิชย์โปรดฟัง! กลุ่มเหล็กออกโรงแจงปัญหา-ข้อเท็จจริง

04 ก.พ. 2562 | 09:33 น.
นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทยและผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมเหล็ก ร่วมกับผู้บริหารของสมาคมเหล็กอื่น ๆ เปิดเผยภายหลังการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของ คสช. เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2562  ถึงความเดือดร้อนและความจำเป็นของการขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ Safeguard

ทั้งนี้ กลุ่มเหล็กชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาให้เหตุผลเกี่ยวกับการยุติมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ เริ่มตั้งแต่หลักกฎหมายในการต่ออายุมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) จากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า การจะใช้มาตรการเซฟการ์ดจะต้องเข้าตาม 3 เงื่อนไข คือ มีปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมภายในของไทยเกิดความเสียหาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนี้

1.ตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องได้เคยต่ออายุมาตรการ Safeguard ทั้งกรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน พ.ศ. 2559 และกรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน พ.ศ. 2560 โดยได้ให้เหตุผลว่า "เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในระหว่างการปรับตัว" ซึ่งในการพิจารณาไม่ได้พิจารณาในส่วนปริมาณนำเข้าว่าต้องมีปริมาณสูงขึ้น (ในช่วงที่ใช้มาตรการ 3 ปีแรกปริมาณการนำเข้าลดลง)


1 นาวา ล้อมกรอบ

ส่วนความเสียหายก็ไม่ได้พิจารณาว่า มีความเสียหายที่ร้ายแรง แต่พิจารณาว่า อุตสาหกรรมยังมีความเสียหายอยู่ ซึ่งในกรณีนี้อุตสาหกรรมภายในยังคงมีผลประกอบการที่ขาดทุนอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังคงมีความเสียหายอยู่

โดยทั้งปริมาณนำเข้าที่ลดลงและความเสียหายที่ลดลงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่แล้ว เพื่อให้อุตสาหกรรมภายในมีกำลังในการลงทุนเพื่อดำเนินโครงการตามแผนปรับตัวตามที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง

ส่วนการขอชดเชยและตอบโต้จากประเทศต่าง ๆ จากการประสานงานผ่านบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ของเกาหลี พบว่า รัฐบาลเกาหลีไม่มีนโยบายที่จะขอชดเชย หรือ ตอบโต้ไทย  ส่วนประเทศจีน อียิปต์ และตุรกี ไม่มีการส่งสัญญาณในการตอบโต้ไทย เพราะในการประชุมรับฟังความเห็นทั้ง 3 ประเทศ ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมให้ความเห็นและแสดงถึงการคัดค้านมาตรการแต่อย่างใด

ประเทศอียิปต์และตุรกีอาจจะไม่มีสิทธิ์ในการขอชดเชย เนื่องจากปริมาณที่เคยส่งมายังไทยนั้นมีปริมาณน้อยกว่าขั้นต่ำของการเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการ (ไทยฟ้องตุรกีใน WTO แล้วเช่นกัน กรณีที่ตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทย)

"ตามกระบวนการจะมีการขอ Consult ก่อนอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการขอ Consult แต่อย่างใด จึงไม่ถือเป็นการขอชดเชยอย่างเป็นทางการ และกรณีมีการขอชดเชย อุตสาหกรรมภายในยินดีสนับสนุนและให้การชดเชยอยู่แล้ว หากเป็นไปตามข้อกฎหมายของไทยและ WTO"

ส่วนกรณีตุรกีขึ้นภาษีเครื่องปรับอากาศนั้น อุตสาหกรรมภายในได้ยินยอมให้มีการชดเชยเป็นโควตาตามมูลค่าที่ตุรกีร้องขอผ่านกรมการค้าต่างประเทศตามกระบวนการชดเชยของ WTO แล้ว แต่ตุรกีกลับเปลี่ยนเป็นร้องขอในสิ่งที่ผิดกฎหมายของไทยและผิดกฎ WTO ซึ่งคณะกรรมการ Safeguard พิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถให้ตามที่ตุรกีร้องขอ ประกอบกับได้มีการฟ้องตุรกีไปยัง WTO แล้วว่า ตุรกีดำเนินการไม่ถูกต้องในหลายประเด็น เช่น ตุรกีไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ จึงไม่สามารถตอบโต้ไทยได้ และมูลค่าภาษีที่ตุรกีเรียกเก็บเพิ่มนั้นสูงกว่ามูลค่าที่ตุรกีได้รับผลกระทบ

นอกจากการยอมให้มีโควตาแล้ว ในการเจรจาอุตสาหกรรมภายในยังเสนอจะทำการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบด้วย เพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการส่งออก และอุตสาหกรรมภายในเสนอผ่านกรมการค้าต่างประเทศให้ส่วนลดในส่วนของวัตถุดิบให้กับบริษัทเครื่องปรับอากาศเป็นมูลค่าเท่ากับที่อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศต้องชดเชยค่าภาษีนำเข้าให้กับตุรกี

สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศมีน้อยมาก เนื่องจากมาตรการ Safeguard นี้ เป็นการบังคับใช้มาตรการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะสามารถพิจารณาได้จากสินค้านำเข้ายังมีอยู่ในระดับสูงประมาณ 1.2 ล้านตันในปี 2561 เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในมีการยกเว้นมาตรการให้กับหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมเหล็กเกรดพิเศษ, สินค้าที่นำมาผ่านกระบวนการรีดเย็นต่ออยู่แล้ว และยังยกเว้นมาตรการให้กับการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกด้วย เพื่อลดผลกระทบของสินค้าที่อยู่ในข่ายของการบังคับใช้มาตรการ

นอกจากนี้ การบังคับใช้มาตรการ AD ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถทดแทนมาตรการ Safeguard ได้ การบังคับใช้มาตรการ AD ทั้งหมดเป็นสินค้าคนละประเภทกับสินค้าที่ใช้มาตรการปกป้องทั้งสิ้น มีเพียงกรณีเดียวที่มีสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ Safeguard คือ AD เหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน แต่ภายหลังจีนหลบเลี่ยงไปเติมธาตุอื่นแล้ว จึงไม่เข้าข่ายมาตรการ AD นี้

"หากไม่มีมาตรการ Safeguard จะเป็นช่องว่างให้มีการนำเข้าอย่างมากมาย โดยเฉพาะประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วงที่มีสงครามทางการค้าที่ประเทศต่าง ๆ หาแหล่งระบายสินค้า"

595959859