'บินไทย' ล้มค่าคอม! เจรจาตรง "แอร์บัส-โบอิ้ง"

04 ก.พ. 2562 | 08:14 น.
040262-1458

เปิดแผนฝูงบินใหม่ การบินไทยนำร่องซื้อ 25 ลำ 7.7 หมื่นล้าน เน้นเครื่องลำตัวแคบ 22 ลำ ลำตัวกว้าง 3 ลำ จัดหาเสร็จ 9 เดือน รับมอบ 2 ปีข้างหน้า บอร์ดเฮี้ยบมีมติให้สั่งซื้อตรงกับ "แอร์บัส-โบอิ้ง" ไม่ผ่านนายหน้า ลดค่าคอมฯ

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เสนอแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 2 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2562-2566 ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เพื่อเสนอไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ


aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL25zLzAvdWQvMTUxMC83NTUxMjIyL3RnLmpwZw-2

แผนการจัดซื้อแบ่งเป็น 2 ระยะ แผนแรก การบินไทยจะจัดหาเครื่องบินใหม่ (เฟิร์ม ออร์เดอร์) จำนวน 25 ลำ ในปีนี้ เพื่อทดแทนเครื่องบิน 19 ลำ ที่จะปลดระวาง วงเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท

แผนที่ 2 เป็นการจัดซื้อเครื่องบินที่เป็นทางเลือก (ออพชัน ออร์เดอร์) จำนวน 13 ลำ ทดแทนเครื่องบินเก่า โบอิ้ง 777 หรือในกรณีปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ก่อนอายุ 20 ปี

ทั้งนี้ การบินไทย ระบุว่า หากเทียบกันระหว่างการจัดซื้อใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่ากับต้นทุนน้ำที่น้อยกว่า จะคุ้มค่ากว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่จะเกิดขึ้นในอีก 6-7 ปีข้างหน้า


บินไทย-1

สำหรับแผนการจัดซื้อเครื่องบิน 25 ลำ ที่จะเกิดขึ้นก่อน จะเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ 22 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 3 ลำ ตามยุทธศาสตร์การบินไทย ที่มองว่า กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อเมืองที่อยู่ภายในภูมิภาคนี้กับเส้นทางระยะไกลที่มีความสำคัญ ประกอบกับ ปัจจุบัน การบินไทยขาดแคลนเครื่องบินลำตัวแคบ ทำให้การทำการบินในเอเชีย โดยเฉพาะในจุดบินที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งการบินไทยต้องการจะลงไปชิงพื้นที่ในจุดที่เป็นเมืองรอง หรือ ตลาดใหม่ ในจีนและอินเดีย เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยว

"เครื่องบินลำตัวแคบในยุคนี้ สามารถทำการบินในรัศมีการบินสูงสุดได้กว่า 4 พันกิโลเมตร หรือ ราว 6 ชั่วโมง ทำให้การบินไทยสามารถบริหารจัดการเส้นทางบินผ่านการใช้เครื่องบินลำตัวแคบที่มีความยืดหยุ่นได้สูง ทั้งยังทำให้การบริหารจัดการการใช้เครื่องบินมีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับปริมาณผู้โดยสารที่แตกต่างกันในช่วงไฮซีซันและโลว์ซีซันด้วย เพราะเครื่องบินลำตัวแคบจะอยู่ที่ราว 200 ที่นั่ง"


PO1-INFO-3441

➣ ซื้อตรง "แอร์บัส-โบอิ้ง"

อย่างไรก็ตาม แผนการจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 25 ลำ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะซื้อเครื่องบินรุ่นใดบ้าง เพราะต้องรอให้แผนดังกล่าวผ่านมติ ครม. ก่อน จากนั้นจะเรียก 2 บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน ทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง มาเสนอราคาให้การบินไทยพิจารณา แต่จากแผนก็มีความชัดเจนว่า เครื่องบินลำตัวแคบ 22 ลำ ก็จะมีรุ่นที่อยู่ในการพิจารณา เช่น แอร์บัส เอ 320 นีโอ, แอร์บัส เอ 321, แอร์บัส เอ 319, โบอิ้ง 737 MAX 8, โบอิ้ง 737 MAX 9 ส่วนเครื่องบินลำตัวกว้าง 3 ลำ ที่จะนำมาทำการบินในพิสัยไกล มีเครื่องบินที่เข้าข่าย เช่น แอร์บัส เอ 350-900, แอร์บัส เอ 350-1000, โบอิ้ง 787-900, โบอิ้ง 787-10, โบอิ้ง 777-300ER

"บอร์ดการบินไทยให้นโยบายไว้แล้วว่า ให้แจ้งบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน ว่า จะเป็นการจัดซื้อโดยตรงระหว่างการบินไทยและบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน จะไม่มีการซื้อผ่านบริษัทนายหน้าเหมือนในอดีต ตัดตอนการกินค่าคอมมิสชัน เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตไปแข่งขันการให้ส่วนลดค่าเครื่องบินที่จะเสนอขึ้นมาให้การบินไทยพิจารณาแทน"

สำหรับค่าคอมมิสชันตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ไม่เกิน 3% หากจัดซื้อเครื่องจากโบอิ้งทั้งหมดในวงเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท จะประหยัดค่าคอมมิสชันประมาณ 2,310 ล้านบาท ขณะที่ ค่าคอมมิสชันแอร์บัสของฝรั่งเศส จะไม่เกิน 5% จะประหยัดงบ 3,850 ล้านบาท

 

[caption id="attachment_384040" align="aligncenter" width="500"] 'บินไทย' ล้มค่าคอม! เจรจาตรง "แอร์บัส-โบอิ้ง" เพิ่มเพื่อน [/caption]

เปิด 3 ทางเลือก หาแหล่งเงิน

ส่วนเงินลงทุนในการจัดหาเครื่องบินทั้ง 25 ลำ ที่จะมีการจัดซื้อล็อตแรกนี้ จะเป็นการออกหุ้นกู้ตามแผนที่ผู้ถือหุ้นการบินไทยได้เคยอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) ขณะเดียวกันก็ยังมองถึงแนวทางในเรื่องของการกู้เงินและการเพิ่มทุนด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้การลงทุนของการบินไทยเกินกรอบวงเงินลงทุนที่ สศช. กำหนด โดยตามการจัดซื้อล็อตแรกนี้ กระบวนการต่าง ๆ จะต้องจบในอีก 6 เดือน หรืออย่างช้า 9 เดือนจากนี้ เพื่อให้เกิดการสั่งซื้อได้ภายในปีนี้ เพื่อให้ในอีก 2 ปี หรือ 18 เดือนต่อจากนั้น จึงจะทยอยรับมอบเครื่องบินได้

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จำนวนฝูงบินที่การบินไทยจะจัดซื้อทั้ง 38 ลำนั้น แบ่งเป็น การซื้อล็อตแรก 25 ลำ ที่จะเริ่มการจัดซื้อภายในปีนี้ เพื่อทดแทน 19 ลำ ที่จะปลดระวาง เนื่องจากเครื่องบินมีอายุใช้งานเกินกว่า 20 ปี ส่วนหลังอีก 13 ลำ จะดำเนินการในปีหน้า เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่า 12 ลำ ตามแผนต่อไป

 

[caption id="attachment_384167" align="aligncenter" width="330"] สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

"การปลดระวางเครื่องบินของการบินไทย เราจะไม่ได้ดูเฉพาะเครื่องบินที่ใช้งานกว่า 20 ปี หรือต้องบินไม่ขึ้น ถึงจะขายเท่านั้น แต่เราจะพิจารณาเรื่องของประสิทธิภาพเป็นสำคัญ ถ้าเครื่องบินเก่า ถึงเวลาซ่อมบำรุงหรือมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการบินที่เพิ่มขึ้น ไม่คุ้ม หากเทียบกับซื้อเครื่องบินลำใหม่ เราก็มองที่จะปลดระวางเช่นกัน"

การบินไทยต้องจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาทดแทนเครื่องบินเก่า 31 ลำ และซื้อเพิ่มอีก 7 ลำ ทำให้การบินไทยสามารถคงจำนวนฝูงบินที่ 110 ลำ จากปัจจุบันอยู่ที่ 101 ลำ โดยจะจัดซื้อเครื่องบินลำตัวแคบเพิ่มขึ้น เพราะเครื่องบินลำตัวกว้าง 1 ลำ ซื้อเครื่องบินลำตัวแคบได้ 2 หรือ 3 ลำ และด้วยความถี่ส่วนใหญ่เป็นการจัดหาเครื่องบินใหม่เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่า การใช้เครื่องบินลำตัวแคบจะถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินที่มีศักยภาพได้ดีกว่า ส่วนการจัดหาแหล่งเงินมาลงทุนจะใช้แนวทางไหนต้องพิจารณาในช่วงใกล้ ๆ ในเรื่องบริหารจัดการการเงินเป็นสำคัญ


เคาะเพิ่มทุนนกแอร์ 5 ก.พ.

สำหรับการตัดสินใจว่า การบินไทยจะมีการเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์หรือไม่ บอร์ดการบินไทยจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 5 ก.พ. นี้ ใน 3 แนวทางการ คือ 1.ขายหุ้นนกแอร์ 2.ไม่เพิ่มทุนในรอบนี้ เพื่อให้สัดส่วนการถือหุ้นของการบินไทยลดลงไปเรื่อย ๆ และ 3.ถ้ามองว่า โลว์คอสต์เป็นกลยุทธ์ก็ต้องใส่เงินลงไปเพิ่มทุน


นกแอร์-นิวฯ

ขณะที่ แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การหาแหล่งเงินมาใช้ในการจัดหาเครื่องบินของการบินไทยนั้น มี 3 ทางเลือก คือ 1.การกู้เงิน โดยกระทรวงการคลังไม่่ค้ำประกัน 2.การออกหุ้นกู้ และ 3.ออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม ด้วยการเปิดช่องจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greeทshoe Option) ให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินได้กรณีที่ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนไม่ครบ โดยเม็ดเงินที่เหมาะสมกรณีเพิ่มทุนจะอยู่ที่ 2.5-3 หมื่นล้านบาท

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า แผนการเพิ่มทุนยังไม่ได้ส่งมาถึงกระทรวงการคลัง เพราะการบินไทยเองยังไม่ได้สรุปแผนการจัดซื้อเครื่องบิน ว่า จะซื้อทั้งหมดกี่ลำ จะเป็นการเช่ากี่ลำ ซื้อกี่ลำ หากมีข้อสรุปแล้วจึงมาดูว่าจะมีแผนในการจัดการแหล่งเงินทุนอย่างไร จะเป็นการกู้ ออกหุ้นกู้ หรือที่สุดจะต้องเพิ่มทุน


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,441 วันที่ 3 - 6 ก.พ. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"บิ๊กตู่" แนะ 'บินไทย' ซื้อฝูงบินใหม่ต้องคุ้มค่า
ฐานโซไซตี : จับตาการบินไทย เพิ่มทุน "นกแอร์" ถมเท่าไรไม่รู้จักเต็ม!


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก