กลุ่มเหล็กบุกทำเนียบ!!!

04 ก.พ. 2562 | 07:39 น.
กลุ่มเหล็กบุกทำเนียบ!! "7 สมาคมเหล็ก" ยื่นหนังสือชี้แจงความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กเคลือบสังกะสีและกลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนถึงความจำเป็นของการขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ Safeguard ห่วงสินค้าที่ไม่มีมาตรการคุ้มครอง

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทยและผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมเหล็ก ร่วมกับผู้บริหารของสมาคมเหล็กอื่น ๆ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ของ คสช. เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2562 เพื่อแสดงถึงความเดือดร้อนและความจำเป็นของการขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ Safeguard รวมถึงชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาให้เหตุผลเกี่ยวกับการยุติมาตรการ ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงหลายประเด็น โดยเฉพาะความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ผลิต

นอกจากนี้ จากสถานการณ์สงครามทางการค้าในสินค้าเหล็กที่เริ่มโดยสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการปกป้องและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กและอลูมิเนียมในประเทศของตน โดยบังคับใช้มาตรการ Section 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act, 1962 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้มีการใช้อัตรากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐอเมริกาให้ถึง 80% (อุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณ 33%)

จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศเพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) สินค้าเหล็ก 28 ประเภท, ประเทศตุรกีกำหนดมาตรการ SG สินค้าเหล็ก 10 ประเภท, สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย) ได้เปิดการไต่สวนพิเศษเกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนเข้ามาในประเทศสมาชิก เพื่อตรวจสอบว่า อุตสาหกรรมในประเทศต้องการการป้องกันในเรื่องปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและจากการเปลี่ยนเส้นทางเหล็กจากสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และตุรกี หรือไม่, ประเทศแคนาดากำหนดมาตรการ SG สินค้าเหล็ก 6 ประเภท, ประเทศเม็กซิโกต่ออายุการเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับสินค้าเหล็กจำนวน 186 รายการ จากประเทศที่ไม่มี FTA กับเม็กซิโก

ขณะนี้ สินค้าเหล็กของไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามทางการค้า เนื่องจากไม่มีมาตรการทางการค้า ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GI) หลังจากที่คณะกรรมการตอบโต้การทุ่มตลาด และอุดหนุนได้มีมติยุติการไต่สวนการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก GI ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่งผลให้ที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ผู้ผลิตบางรายไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้

2.กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ที่ผู้ประกอบการต้องยกเลิกโครงการลงทุนต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเพื่อปรับตัวแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ ซึ่งอาจจะต้องปิดกิจการลงภายในระยะเวลา 1-3 ปี และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ให้กับธนาคาร, เจ้าหนี้เงินกู้ และเจ้าหนี้การค้ากว่า 70,000 ล้านบาท


665477 665481

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) มีมติไม่ให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard : SG) ต่อไป โดยอ้างว่า ข้อมูลจากผลการไต่สวนไม่แสดงให้เห็นความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในอันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่า สถานะของอุตสาหกรรมภายในดีขึ้นมากแล้ว จากการใช้มาตรการปกป้องที่ผ่านมา ทั้งปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มลดลง ส่วนแบ่งตลาดสินค้านำเข้าลดลง มียอดขาย และการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น มีผลการขาดทุนลดลง และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า EU เพิ่งประกาศใช้ Safe Guard เริ่มวันที่ 2 ก.พ. เพราะทั่วโลกปกป้อง มีแต่ข้าราชการไทยบอกให้ให้ยกเลิกมาตรการปกป้อง ทั้งที่เหล็กล้นตลาดและเกิดจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ส่วนที่ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยผูกขาดนั้น มันไม่ใช่ผูกขาด แค่ประคองตัวกันเท่านั้น กรมการค้าภายในก็คุม เพิ่มผลผลิตจาก 30% เป็น 40% น้อยมาก ถ้าเทียบอเมริกาที่ใช้นโยบาย Made in USA เพิ่มจาก 70%เป็น 100% จะเห็นว่าทุกประเทศปกป้องหมด คนงานเป็นแสนคน ต้องเดือดร้อน ที่ลงทุนไป 5 แสนกว่าล้าน จะเสียหายหมด เอาผู้ประกอบรายเล็ก การลงทุนและความเสียหายเทียบกันไม่ได้เลย

595959859