พาณิชย์ไม่ต่ออายุ Safeguard ให้สินค้า "เหล็กแผ่นรีดร้อน"

03 ก.พ. 2562 | 11:28 น.
พาณิชย์ไม่ต่ออายุ Safeguard ให้สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออีก 3 ปี ส่งผลให้ไทยมีโอกาสที่จะถูกตอบโต้ทางการค้า ล่าสุด มีตุรกียื่นข้อเรียกร้องจากไทย ตามด้วยอียิปต์และจีนที่จ่อขอชดเชย หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

133111
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) เปิดเผยกรณีอุตสาหกรรมภายในขอให้ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard : SG) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ต่อไปอีก 3 ปี มีข้อเท็จจริง ว่า อุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนได้รับการคุ้มครองจากมาตรการของรัฐมาโดยตลอด ซึ่งทุกมาตรการยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน รวม 19 ประเทศ โดยใช้มาตรการมาตั้งแต่ปี 2546–2565 ในอัตราสูงสุดถึง 109.25% และสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากจีน มีมาตรการ AD มาตั้งแต่ปี 2555-2566 ในอัตรา 14.28-19.47% และยังมีมาตรการ SG สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ ที่มีมาตรการตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 จนถึง มิ.ย. 2563

สำหรับประเด็นที่เรียกร้องให้ต่ออายุมาตรการ SG อีก 3 ปี หลังจากที่ให้ใช้มาตรการจะครบ 6 ปี คือ ตั้งแต่ 27 ก.พ. 2556 – 26 ก.พ. 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องได้พิจารณาร่างผลการทบทวนความจำเป็นในการขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องแล้ว มีมติไม่ให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องต่อไป เนื่องจากข้อมูลจากผลการไต่สวนไม่แสดงให้เห็นความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในอันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่า สถานะของอุตสาหกรรมภายในดีขึ้นมากแล้ว จากการใช้มาตรการปกป้องที่ผ่านมา ทั้งปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มลดลง ส่วนแบ่งตลาดสินค้านำเข้าลดลง มียอดขาย และการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น มีผลการขาดทุนลดลง และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ด้านการปรับตัวของอุตสาหกรรมภายใน 4 ราย มีผลปรากฏว่า บางรายสามารถปรับตัวได้ตามแผนที่นำเสนอไว้ต่อคณะกรรมการฯ แต่บางรายไม่สามารถทำตามแผนได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยละเอียดรอบคอบแล้ว เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการต่อไป เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากการที่ประเทศผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการ SG ของไทย สามารถขอให้ไทยชดเชยความเสียหายและสามารถใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสินค้าที่ประเทศนั้นมีการนำเข้าจากไทย ตามมาตรา 39 ของ พ.ร.บ.มาตรการปกป้องฯ ได้ ซึ่งปัญหานี้เคยเกิดขึ้นกับสินค้าเครื่องปรับอากาศของไทยที่ส่งออกไปยังตุรกี

ในกรณีของการขยายเวลาการใช้ SG สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศได้รับความเดือดร้อน ทั้ง ๆ ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนไม่สามารถช่วยเยียวยาผลกระทบใด ๆ ต่ออุตสาหกรรมที่ถูกตอบโต้ทางการค้าได้ ซึ่งกรณีของการขอต่ออายุมาตรการ SG สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้แสดงเจตนาชัดเจนในการขอเจรจา เพื่อให้ไทยชดเชยทางการค้าและสงวนสิทธิในการตอบโต้ทางการค้าไว้แล้ว และไทยมีโอกาสที่จะถูกตอบโต้ทางการค้าจากประเทศอื่น ๆ อีก ได้แก่ ตุรกี อียิปต์ และจีน ซึ่งมีผลให้สินค้าจากไทยหลายกลุ่มที่มีการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หากมีการขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้อง


บาร์ไลน์ฐาน

ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม 86 ราย ทั้งสถานทูต ผู้ผลิตต่างประเทศ สมาคมผู้ใช้ อุตสาหกรรมต่อนื่อง และผู้นำเข้า ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตเหล็กไม่เห็นด้วยกับมติ เพราะกังวลถึงสถานการณ์ของสงครามการค้าและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ส่วนผู้ที่เห็นด้วยกับมติไม่ให้ขยายเวลา คือ กลุ่มผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ ต่อเรือ ผู้ผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการที่เป็น SME จำนวนมาก ซึ่งมีการจ้างงานหลายแสนคน ที่จำเป็นต้องใช้สินค้าเหล็กเจืออื่น ๆ เป็นวัตถุดิบในการผลิต เห็นว่า การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ถูกต้องตามข้อกฎหมาย เพราะอุตสาหกรรมภายในดีขึ้นแล้ว จากการที่รัฐช่วยให้มีเวลาในการปรับตัวมาด้วยมาตรการปกป้องมา 6 ปี และยังมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดคุ้มครองอยู่ ซึ่งความเห็นจากการ Hearing ดังกล่าว จะนำไปพิจารณาผลการทบทวนชั้นที่สุดต่อไป


090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

"การพิจารณาร่างผลการทบทวนไม่ให้ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้องต่อไปของคณะกรรมการฯ เป็นไปโดยรอบคอบ โปร่งใส และชัดเจน ภายใต้กรอบของกฎหมายไทยและความตกลงของ WTO ที่มีเจตนารมณ์ให้ใช้มาตรการเป็นการชั่วคราวเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก มิใช่มาตรการที่จะสามารถเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากเหตุอื่น เช่น โครงสร้างที่ไม่เหมาะสมของอุตสาหกรรม แผนการลงทุน หรือ การบริหารจัดการที่ผิดพลาด ซึ่งต้องพิจารณาแนวทางแก้ไข โดยหามาตรการอื่นที่เหมาะสมกับแต่ละปัญหาต่อไป" นางสาวชุติมา กล่าว

รายงานข่าวจากสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย แจ้งว่า วันจันทร์ที่ 4 ก.พ. 2562 เวลา 13.00 น. กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยจะเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ณ ศูนย์บริการประชาชน สำงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล) กรณีความเดือดร้อน หลังจากที่มีมติไม่มีการต่ออายุมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กเจืออื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) และความเดือดร้อนของผู้ผลิตสินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีที่ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาคุ้มครอง ส่งผลให้มีสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างความเสียหายกับผู้ประกอบการในประเทศ

595959859