"แบงก์รัฐ" โหมแพ็กเกจ "สินเชื่อบ้านสูงวัย"

03 ก.พ. 2562 | 03:30 น.
'ออมสิน' แจงผู้สูงวัยไม่เข้าใจแพ็กเกจสินเชื่อบ้าน ส่งผลยอดเพียง 1 พันล้านบาท จากเป้าหมาย 1 หมื่นล้านบาท เร่งสื่อความ แค่จำนองเบิกเงินใช้รายเดือน ไม่ได้ขาย ยัน! ผลิตภัณฑ์ดูแลผู้สูงวัยครบ ด้าน ธอส. เตรียมออกสินเชื่อผู้สูงวัยภายในปีนี้ หลังกฎหมายผ่าน นำร่อง 1 พันล้านบาท พร้อมปรับเงื่อนไขอยู่ได้จนเสียชีวิต แถมคิดดอกเบี้ยต่างกันระหว่างมีทายาทและไม่มีทายาทมาไถ่ถอนบ้าน

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่อัตราการเจริญเติบโตของประชากรชะลอตัว โดยมีแนวโน้มลดลงจาก 0.46% ในปี 2554 เป็น 0.05% ในปี 2568 และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า อัตราเจริญพันธุ์รวมจะลดลงจาก 1.62% ในปี 2553 เหลือ 1.3% ในปี 2583 ซึ่งภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชาชนด้านอายุ ทำให้สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ขณะที่ สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้น ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ประชากรวัยทำงาน 100 คน ต้องรับภาระประชากรสูงอายุและวัยเด็ก 51 คน และคาดว่า เพิ่มเป็น 64 คน ในปี 2570

ทั้งนี้ โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่การเป็น "สังคมสูงวัย" (Aged Society) ตั้งแต่ปี 2548 คือ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึง 10% และตามการคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ปี 2564 ไทยจะเข้าสู่ "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" (Complete Aged Society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงถึง 20% และปี 2574 จะเข้าสู่ "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" (Super Aged Society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงถึง 28% ของประชากรทั้งหมด


MP20-3441-A

ในแง่การดำรงชีพสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ยังมาจากบุตร รองลงมา คือ จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง และได้รับจากเบี้ยยังชีพของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งยังมีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ และยังพบว่า ผู้สูงอายุไทยอยู่ลำพังคนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรสเท่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ดังนั้น สังคมไทยควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับลูกหลาน แม้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเกิดปรากฏการณ์สูงวัยเต็มเมืองก็ตาม

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารมีผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อดูแลลูกค้าในวัยเกษียณ คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีบ้าน สามารถนำบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% ใน 2 ปีแรก และสามารถเบิกเงินใช้ได้ 10% ของวงเงินกู้ยืม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยมียอดกู้เข้ามาเพียง 1 พันล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนเข้าใจว่าเป็นการขาย ดังนั้น สิ่งสำคัญจะต้องสื่อความว่า ไม่ได้เป็นการขาย เพียงแค่จำนองไว้เบิกเงินเท่านั้น


090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

"วันนี้ยังเป็นความโชคดีของสังคมไทยที่ลูก ๆ ยังดูแลบุพการี ดังนั้น เราจึงมีวงเงินอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า สินเชื่อบ้านกตัญญูดูแลบุพการีให้ดอกเบี้ย 0% ในปีแรก สำหรับคนที่เอาคุณพ่อคุณแม่ปู่ย่าตายายมาอยู่ด้วย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยังไม่ต้องเอาบ้านไปจำนอง ซึ่งใช้วงเงินไปแล้ว 4-5 พันล้านบาท สำหรับคนที่เอาบุพการีมาอยู่ด้วย โดยดูจากทะเบียนบ้าน"

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่ต้องออกผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุเพิ่มเติม เพราะยังมีสินเชื่อประชารัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้สูงอายุ ให้พ่อค้าแม่ค้าที่มีอายุเยอะ โดยขยายอายุผู้กู้ออกเป็น 70 ปี จากเดิมไม่เกิน 60 ปี โดยคิดดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน ล่าสุด มีการเบิกเงินกู้ไปแล้วประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ไม่มาก แต่หากคิดต่อรายละประมาณ 2 แสนบาท ก็อาจเยอะ นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์เงินฝากอีก 2 ประเภท คือ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษผู้สูงวัยและเผื่อเรียกประชารัฐผู้สูงวัย ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยพิเศษเช่นกัน

ด้าน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ภายในปีนี้ ธอส. จะสามารถออกสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงเงื่อนไขตามข้อเสนอของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ต้องการให้ขยายเวลาให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่บ้านได้ไปจนเสียชีวิต จากเดิมที่อยู่ได้ถึง 80 ปีเท่านั้น รวมถึงการคำนวณดอกเบี้ยและตรวจสอบเครดิตบูโร กรณีที่ผู้กู้ไม่มีทายาท จะมีหลักคำนวณสินเชื่อต่างจากผู้ที่มีทายาทอย่างไร เพราะปกติหลังจากผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารต้องสอบถามไปยังทายาท ว่า จะไถ่ถอนคืนหรือไม่ หากไม่ไถ่ถอนจะนำไปขายทอดตลาด และนำส่วนต่างราคาสินทรัพย์มาคืนให้ทายาท หากไม่มีทายาทจะยึดหลักทรัพย์นั้นไปทั้งหมด

สำหรับสินเชื่อ "รีเวิร์ส มอร์ทเกจ" เบื้องต้นกำหนดวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อทดสอบตลาด ปล่อยกู้ให้ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ มาใช้เป็นหลักประกันขอกู้กับธนาคารได้ จากนั้นธนาคารจะทยอยจ่ายเงินให้ใช้เป็นรายเดือนตามมูลค่าของหลักทรัพย์ไปจนเสียชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ใช้เลี้ยงดูตัวเองได้ตลอดชีพ เช่น บ้านราคา 2.4 ล้านบาท มาเข้าโครงการจะปล่อยกู้ในอัตรา 50% ของมูลค่าหลักทรัพย์ หรือ 1.2 ล้านบาท และจ่ายคืนให้ผู้กู้เดือนละ 4,000 บาท รวมดอกเบี้ย 20 บาท

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,441 วันที่  3 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว