GIC เป๋าตุง! 2 ปี ฟันปันผลหุ้นไทย 5.4 พันล้าน

03 ก.พ. 2562 | 05:48 น.
เผย 2 ปี (2560-2561) กองทุน GIC ทำกำไรจากเงินปันผลหุ้นไทย 19 แห่ง รวม 5.4 พันล้านบาท ปี 2561 รับปันผลจาก บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 718 ล้านบาท, ปตท. 506 ล้านบาท และ 3 แบงก์ไทย มูลค่ารวมถึง 487 ล้านบาท

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอข่าว "GIC ทิ้งหุ้นไทย! เทขาย 10 บจ. ขนเงินออกแสนล้าน"
เผยแพร่ในฉบับที่ 3,439 วันที่ 27-30 ม.ค. 2562 ชี้! ให้เห็นว่ามุมมองของ GIC ต่อตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันได้แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา

GIC ทิ้งหุ้นไทย! เทขาย 10 บจ. ขนเงินออกแสนล้าน

กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ หรือ Government of Singapore Investment Corporation : GIC เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (ช่วงปี 2541) ดัชนีหุ้นไทยอยู่ระดับเพียง 250 จุด และได้ลงทุนต่อเนื่องมาถึงในปัจจุบัน ในบางช่วงเวลากองทุน GIC ลงทุนในตลาดหุ้นไทยถือหุ้นไทยมูลค่ารวมมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท จำนวนบริษัทที่ลงทุนมีราว 20-25 บริษัท และได้รับผลตอบแทน "เงินปันผล" เฉลี่ยแต่ละปีไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท


MP25-3441-X

มาในช่วงหลัง กองทุน GIC ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยลงตามลำดับ ตามนโยบายการบริหารกองทุนที่เป็น Passive Fund โดยลงทุนตามดัชนี Benchmark ที่กำหนดไว้ จึงได้โยกเงินลงทุนไปในตลาดหุ้นจีนและตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยในปี 2559 GIC ถือหุ้นไทยรวมจำนวน 20 บริษัท มูลค่า 82,596 ล้านบาท (คำนวณราคาหุ้น ณ วันปิดสมุดทะเบียน 8 ส.ค. 59) ปัจจุบัน GIC ลดจำนวนบริษัทที่ถือหุ้นลงเหลือ 19 บริษัท ขณะที่ มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเหลือ 67,234 ล้านบาท (ณ 24 ม.ค. 62)

เป็นการลงทุนในช่วง 20 ปีที่ GIC ทำกำไรจากตลาดหุ้นไทยมหาศาล เมื่อเทียบกับต้นทุนที่เข้ามาในช่วงที่หุ้นไทยมีราคาถูกมาก และแม้มูลค่าการลงทุนของกองทุน GIC ในตลาดหุ้นไทยจะลดลงตามลำดับ แต่ผลตอบแทน "เงินปันผล" ที่ได้รับยังมีมูลค่าสูงถึงปีละ 2-3 พันล้านบาท

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้สำรวจเงินปันผลที่กองทุน GIC ได้รับในช่วง 2 ปี (2560-2561) เป็นวงเงินรวม 5,391 ล้านบาท โดยในปี 2560 ได้เงินปันผล 2,861 ล้านบาท และในปี 2561 ได้รับเงินปันผล 2,530 ล้านบาท

โดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จ่ายเงินปันผลให้กับกองทุน GIC สูงสุด ยังเป็น บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (LH) จ่ายเงินปันผลรวม 718 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2560 ที่เคยจ่ายเงินปันผลให้ 1,353 ล้านบาท หรือลดลงถึง 88%), บมจ.ปตท. (PTT) จ่ายเงินปันผลให้กองทุน GIC มากเป็นอันดับรองลงมา โดยจ่ายเงินปันผล 506 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.3%)

ขณะที่ 3 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย จ่ายเงินปันผลให้กับกองทุน GIC รวมเป็นจำนวน 437 ล้านบาท โดยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จ่ายเงินปันผล 215  ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 102.83%), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จ่ายเงินปันผล 158 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.33%) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จ่าย 113 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 76.56%)

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย บจ. ที่จ่ายเงินปันผลให้กับกองทุนดังกล่าวมากกว่าปีละ 100 ล้านบาท ดังนี้ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF ), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL)

ทั้งนี้ รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2561 มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ประกาศจ่ายเงินปันผลจำนวน 534 บริษัท มูลค่าเงินปันผลรวม 519,546 ล้านบาท ซึ่งจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.78% โดย บจ. ใน SET ที่จ่ายเงินปันผลสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีมูลค่ารวมกัน 139,616 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% ของมูลค่าเงินปันผลทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,441 วันที่ 3-6 กุมภาพันธ์ 2562

ติดตามฐาน