'มิตซูบิชิ' พร้อมลุย "ปลั๊ก-อิน ไฮบริด" ดันรถใหม่ 7 รุ่น

03 ก.พ. 2562 | 03:58 น.
ประกาศผลการดำเนินงานในปี 2561 อย่างสวยงาม สำหรับ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่สามารถทำยอดขายได้ 84,560 คัน เติบโต 21.3% กวาดส่วนแบ่งทางการตลาดได้ 8.1% ส่วนรถที่ขายดีที่สุดยังคงเป็นปิกอัพ 'ไทรทัน' ที่ทำได้ 39,984 คัน ตามมาด้วยอีโคคาร์อย่าง 'มิราจ' และ 'แอททราจ' ที่มียอดรวมกัน 26,085 คัน, ปาเจโร สปอร์ต 12,982 คัน และน้องใหม่เอ็กซ์แพนเดอร์ 5,509 คัน

เบื้องหลังความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และก้าวต่อไปของมิตซูบิชิในปี 2562 จะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน วันนี้ "โมริคาซุ ชกคิ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จะมาเป็นผู้บอกเล่า

 

[caption id="attachment_383089" align="aligncenter" width="503"] โมริคาซุ ชกคิ โมริคาซุ ชกคิ[/caption]

➣ ยอดขายเข้าเป้า

ความสำเร็จในปีที่ผ่านมา มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การเปิดตัวรถใหม่ เริ่มตั้งแต่ 'เอ็กซ์แพนเดอร์' และ 'ไทรทัน ใหม่" ตามมาด้วย มิราจ, แอททราจ, ปาเจโร สปอร์ต ปี 2019 และรุ่นลิมิเต็ด อิดิชัน อีก 4 รุ่น ประการต่อมา คือ เครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการที่ปรับรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งแผนขยายโชว์รูมเพิ่มต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มี 223 เอาต์เลต และยังเพิ่มมาตรฐานของดีลเลอร์ ให้ความสำคัญกับศูนย์บริการ ขณะที่ กิจกรรมการตลาดพยายามจะเข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด มีการมอบโปรโมชัน สนับสนุนการสื่อสารตลาดในทุกช่องทางมีเดีย


➣ แผนงานในปี 2562

กลยุทธ์ในปีนี้ยังประกอบไปด้วย 3 ข้อหลัก เหมือนปีที่ผ่านมา โดยแผนงานเกี่ยวกับรถรุ่นใหม่จะเปิดตัว 7 รุ่น ด้านเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการจะเพิ่มเป็น 230 เอาต์เลต และภายใน 2 ปี จะพัฒนาโชว์รูมให้เป็นรูปแบบใหม่ทั้งหมด พร้อมเพิ่มทักษะของบุคลากร เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

➣ เป้าหมายในปีนี้

มิตซูบิชิต้องการมีส่วนแบ่งการตลาด 9% หรือประมาณ 9.4 หมื่นคัน ด้านการส่งออกใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่ทำได้ 3.47 แสนคัน โดยตลาดหลักยังเป็นยุโรป, เอเชีย, อเมริกาเหนือ อย่างไรก็ดี ตลาดส่งออกมีปัจจัยเสี่ยง อาทิ สงครามการค้า ขณะที่ ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 คาดว่าจะมีตัวเลขใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ 1.04 ล้านคัน


➣ ความคืบหน้ารถยนต์ไฟฟ้า

ปลายปีที่ผ่านมา มิตซูบิชิได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้ากับบีโอไอ ที่จะหมายรวมถึงการผลิตที่ครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบอีวี (EV) และแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าจะได้รับการอนุมัติ ส่วนรายละเอียดว่าจะเริ่มผลิตเมื่อไรหรือรุ่นไหน ยังไม่สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูลได้ แต่เบื้องต้น ประเมินว่า รถแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด ใช้งานได้จริง วิ่งในระยะทางไกลกว่า เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

'มิตซูบิชิ' มองว่า ปัจจุบัน สิทธิประโยชน์ของรถยนต์ไฟฟ้ายังน้อยเกินไป ยกตัวอย่าง ในประเทศที่มีการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาทิ ยุโรป หรือ อเมริกา มีการสนับสนุนทั้งเรื่องการลดภาษีเงินได้, การช่วยเหลือผู้ที่ซื้อรถเหล่านื้ และอีกข้อ คือ ความพร้อมของสถานีชาร์จไฟ มีทั้งเอกชนและรัฐที่พยายามขยายสถานีต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,441 วันที่  3 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว