ค่าย 2 ล้อ เปิดศึกชิงลูกค้าฐานราก 'ยามาฮ่า' ลุยรถครอบครัว

03 ก.พ. 2562 | 06:47 น.
2 ค่ายรถจักรยานยนต์ยักษ์ใหญ่ ฮึดสู้เศรษฐกิจซบ กำลังซื้อฐานรากหด ดันรถครอบครัวรุ่นใหม่ลงสู่ตลาดตั้งแต่ต้นปี 'ยามาฮ่า' ส่ง 'ฟรีโก' หวังขยายฐานลูกค้าโมเปด ดันยอดขายเข้าเป้า 2.85 แสนคัน ด้านผู้นำ 'ฮอนด้า' ชิงจังหวะเปิดตัว "เวฟ 110 ไอ โฉมใหม่" ป้องแชมป์ตลอดกาล

ตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2561 ที่มียอดขาย 1.79 ล้านคัน ลดลงจากปี 2560 ที่ทำได้ 1.81 ล้านคัน สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจฐานรากที่ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา รายได้จากการท่องเที่ยวที่ไม่แน่นอน รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น

โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2562 เนื่องจากบรรยากาศและภาพรวมเศรษฐกิจในตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนที่จะมาช่วยฉุดให้ตลาด 2 ล้อ พลิกกลับมาเติบโตเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ก็ต้องมีแผนงานเพื่อกระตุ้นตลาด ล่าสุด ค่ายยามาฮ่าก็ประกาศแผนบุกเต็มพิกัด ด้วยการเตรียมโมเดลใหม่ 5 รุ่น มาเปิดตัวในปีนี้ ซึ่ง 2 ใน 5 รุ่น ได้เปิดตัวไปกับดีลเลอร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


MP28-3441-A

สำหรับรถที่เปิดตัว ได้แก่ "ยามาฮ่า ฟรีโก ใหม่" เครื่องยนต์บลู คอร์ ขนาด 125 ซีซี ไฟหน้าแอลอีดี พร้อม Hazard Lamp และมีไฟฉุกเฉิน, เรือนไมล์แอลอีดี แสดงผลในทุกฟังก์ชัน มีช่องชาร์จไฟสำรอง สามารถชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่, ช่องเติมนํ้ามันด้านหน้า พร้อมปุ่มกดเปิดฝาอัตโนมัติ, ที่เก็บของใต้เบาะ 25 ลิตร ใส่หมวกกันน็อกได้ทั้งใบ ยางหลังขนาดใหญ่ ล้อแมก 12 นิ้ว

การเปิดตัว "ฟรีโก ใหม่" ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และยามาฮ่าวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ไว้ที่ Modern Family Automatic ราคาช่วงแนะนำ 50,900 บาท ส่วนอีกรุ่นเป็นสปอร์ต โมเปด ยามาฮ่า เอ็กซ์ไซเตอร์ 150 ซีซี ที่จะเปิดราคาพร้อมทั้งข้อมูลในต้นเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้ (ราคาเดิมประมาณ 6.2 หมื่นบาท)

การเจาะเข้ามาในตลาดรถครอบครัว หรือ 'โมเปด' ในครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังกับโมเดลก่อนหน้าอย่าง "ยามาฮ่า ฟินน์" ที่ได้เปิดตัวในปลายปี 2560 และทำตลาดจริงจังในปีที่ผ่านมา ซึ่งยามาฮ่าต่างทุ่มสรรพกำลังกับรถรุ่นนี้อย่างมาก เริ่มตั้งแต่การพัฒนาสินค้าเพื่อให้ตอบโจทย์และตรงใจลูกค้าคนไทย หลังจากนั้นก็ทำการตลาดเชิงรุก ด้วยการทุ่มเม็ดเงินกว่า 100 ล้านบาท (เดิมทำตลาดในรุ่นสปาร์กใช้เม็ดเงิน 30-50 ล้านบาท) มีการใช้พรีเซนเตอร์ "รูม 39" เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ มีการจัดกิจกรรมกว่า 2,000 ครั้ง ในช่วง 3 เดือนที่เปิดตัว

แนวรุกทั้งหมดที่ยามาฮ่าได้เสริมทัพเข้ามานั้น ก็เพื่อจะก้าวไปสู่เป้าหมายในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มครอบครัว หรือ โมเปด จากเดิมที่มีตัวเลขประมาณ 5% ในปี 2560 และในปี 2561 ที่เปิดขาย 'ฟินน์' ได้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10%


บาร์ไลน์ฐาน

"เราเตรียมรุกตลาดอย่างต่อเนื่องและตั้งเป้าที่จะโตสวนกระแส พร้อมทั้งเพิ่มยอดขายเป็น 285,000 คันในปีนี้ และมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะมีการเปิดตัวรถจักรยานยนต์ครบทุกเซ็กเมนท์ ประเดิมด้วยรถในเซกเมนต์ครอบครัว หรือ โมเปด จำนวน 2 รุ่น ซึ่งถือเป็นอีก 2 เซ็กเมนต์ ที่ยังสามารถสร้างโอกาสแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น" นายชิเงโอะ ฮายาคาวะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวในงานแถลงนโยบายประจำปี 2562 แก่ร้านผู้จำหน่ายทั่วประเทศในปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่ ค่ายผู้นำอย่าง 'ฮอนด้า' ก็ชิงจังหวะตั้งแต่ต้นปีในวันเด็ก ด้วยการเปิดตัวรถครอบครัวยอดนิยมอย่าง "ฮอนด้า เวฟ 110 ไอ โฉมใหม่" ซึ่งถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย เพราะรุ่นนี้เป็นรถที่มียอดขายสะสมสูงถึง 14.5 ล้านคัน ในช่วง 21 ปีที่มีการทำตลาด (ปี 2540-2561)

"การตอบรับของลูกค้าที่มีต่อ "ฮอนด้า เวฟ" ในทุกซีรีส์ สะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจสูงสุดที่ลูกค้ามีให้กับเรา และถือเป็นรถที่อยู่คู่กับตลาดรถจักรยานยนต์ในไทยมายาวนานที่สุด ดังนั้น การปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้ของ "ฮอนด้า เวฟ" จึงเป็นเสมือนการนำรถรุ่นนี้ให้กลับเข้าสู่ความทันสมัยอีกครั้ง และคงความเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มครอบครัว" นายสุชาติ อรุณแสงโรจน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าว

สำหรับ "ฮอนด้า เวฟ 110 ไอ ใหม่" มาพร้อมไฟหน้าแอลอีดี โคมไฟหน้าดีไซน์รูปทรงหัวใจ ไฟเลี้ยวแบบแยกส่วน มิเตอร์ใหม่ พร้อมไฟสัญญาณบอกตำแหน่งเกียร์ ไฟท้ายดีไซน์ใหม่ ที่เก็บของใต้เบาะ 7.4 ลิตร สะดวกสบายด้วยคีย์ชัตเตอร์ ส่วนเครื่องยนต์ 4 จังหวะ 110 ซีซี ระบบหัวฉีด PGM-FI ราคาเริ่มต้น 36,500 บาท

"ปีนี้เราจะเปิดตัวรถ 4 รุ่น เริ่มด้วยรุ่นแรก คือ "เวฟ 110 ไอ ใหม่" ที่เจาะกลุ่มรถครอบครัว ซึ่งเซ็กเมนต์นี้มีสัดส่วนการขายคิดเป็น 51% ของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งหมด ถือเป็นตลาดหลักของไทยและเป็นตลาดหลักของเราเช่นกัน และแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศจะมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่เซ็กเมนต์นี้กลับมีการเติบโตขึ้นทุกปี" นายสุชาติ กล่าว

สำหรับฮอนด้าคาดว่า ปี 2562 ตลาดรถจักรยานยนต์รวมจะมียอดขายทั้งสิ้น 1.72 ล้านคัน ลดลงจากปี 2561 ที่มียอดขาย 1.79 ล้านคัน โดยฮอนด้าตั้งเป้าหมาย 1,36 ล้านคัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น ที่ทำได้ 1.40 ล้านคัน

เรียกได้ว่า เปิดเกมรุกกันเต็มรูปแบบ งานนี้ยามาฮ่าก็พยายามรุกคืบทีละนิด ๆ ส่วนเจ้าตลาดเองก็เตรียมแผนมาป้องกัน คาดว่าการตลาดหลังจากนี้จะดุเดือดไม่น้อย เพราะทั้ง 2 ค่าย จะงัดทุกกิจกรรม รวมไปถึงแคมเปญโปรโมชันออกมาต่อสู้กัน เพื่อให้ได้มาซึ่งยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,441 วันที่  3 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ติดตามฐาน