ชิงเค้ก "บ้านสูงวัย" บิ๊กอสังหาฯ ปรับตัวรับมือ

03 ก.พ. 2562 | 01:08 น.
คงต้องยอมรับว่า ตัวเลขผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งมีอายุยืนยาว ไม่ต่างกับประเทศญี่ปุ่น

เนื่องจากผลของการดูแลตัวเองมาตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่ถึงกระนั้น ผู้สูงอายุเปรียบเสมือนไม้ผุ ที่ต้องเตรียมความพร้อม ทั้งสถานพยาบาล บ้านพักอาศัย ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อย่าง วัสดุก่อสร้าง ตลอดจนสุขภัณฑ์ ส่งผลให้ปัจจุบันเริ่มมีผู้เล่นในตลาดนี้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียง บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปฯ เพียงรายเดียวและรายแรก ได้มองเห็นโอกาสทางการตลาด พัฒนาโครงการเมืองสำหรับผู้สูงอายุ ทำเลรังสิต "จิณณ์ เวลบีอิ้ง" นอกจากนี้ ยังมีทำเลประชาอุทิศและเมืองตากอากาศ ซึ่งมีกระแสตอบรับค่อนข้างดี ทั้งนี้ การเริ่มเข้าสู่ตลาดเป็นรายแรกย่อมได้เปรียบ อีกทั้งความเป็นมืออาชีพทางการแพทย์ ทำให้เกิดการยอมรับ ความไว้วางใจ ที่จะมอบการดูแลชีวิตยามชราไว้ที่นี่ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ น.พ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ กลุ่มธนบุรีกรุ๊ป สะท้อนว่า ทุกคนต้องเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ต้องเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ทั้งการดูแลรักษาตนเอง ทั้งสุขภาพและจิตใจ ไม่เพียงเท่านั้น จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับที่พักอาศัยอันเหมาะสมสำหรับวัย รวมถึงสถานพยาบาลใกล้บ้าน

ซึ่งตลาดคนสูงวัยไม่ใช่เล็ก ๆ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างได้อานิสงส์ไปด้วย ทั้งคนรับจ้างดูแลรายวัน รายเดือน ซึ่งสูงไม่แพ้มนุษย์เงินเดือน กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สุขภัณฑ์ ที่มีการปรับรูปแบบดีไซน์รองรับตลาดกลุ่มนี้ รวมถึงโรงพยาบาล


MP25-3441-X

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนอีกหลายรายกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดนี้ ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ น.พ.สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น.ซี. เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ NCH ที่ระบุว่า ปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีตัวเลขสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้บริษัทพัฒนาที่ดินต้องปรับแผนรองรับ สำหรับบริษัทขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบบ้านผู้สูงอายุที่เหมาะสมในอนาคต ว่า จะเน้นรูปแบบคอนโดมิเนียมขายขาด หรือ เช่าซื้อระยะยาว โดยจะนำที่ดิน ซึ่งเป็นแลนด์แบงก์เก่า ออกพัฒนา ย่านลำลูกกาคลองหก

แต่ทั้งนี้ ในสเต็ปแรกมีการปรับแบบบ้านเพื่อรองรับผู้สูงอายุ เนื่องจากการซื้อบ้านแต่ละหลังต้องใช้เป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว เมื่อสูงวัยมากขึ้นต้องสามารถอยู่ภายในบ้านหลังนั้นได้อย่างเป็นสุข ดังนั้น จึงออกแบบให้สามารถปรับการใช้พื้นที่ได้ทุกระดับอายุจนถึงวัยชรา สำหรับสเต็ปที่ 2 คือ การปรับโครงการเก่า แม้จะขายไปแล้วก็ตาม แต่บริษัทจะออกแบบรองรับไว้ให้ลูกค้า หากต้องการปรับแบบดัดแปลงใหม่ในอนาคตสำหรับผู้สูงอายุ เช่น พ่อแม่อายุตั้งแต่ 60-80 ปี

อย่างไรก็ตาม นอกจากบริษัทพัฒนาที่ดินเริ่มปรับตัว เพิ่มพื้นที่สำหรับคนวัยนี้มากขึ้น เพราะเป็นตลาดใหญ่ กำลังซื้อสูง สำหรับธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม ซึ่งเป็นบ้านสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ปัจจุบันมีเอกชนเปิดเฉลี่ยประมาณ 10-20 เตียง เช่นเดียวกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลของรัฐ ขณะโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งปรับตัวหมดแล้ว ที่จะมีส่วนบริการสำหรับคนกลุ่มนี้

สำหรับมุมสะท้อนของ นายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อิน สไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ยอมรับว่า แนวโน้มในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุเกิดขึ้นจำนวนมากและจะเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ สำหรับบริษัทพัฒนาที่ดิน สถานพยาบาล และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งหากเวลานั้นใกล้เข้ามา บริษัทต้องปรับเข้าไปลุยตลาดกลุ่มนี้แน่นอน


➣ จุดอ่อนธุรกิจผู้สูงอายุ ขาดแคลนบุคลากร

จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ออกมาระบุว่า ในปี 2563 จะมีผู้สูงอายุมากขึ้น 13 ล้านคน หรือ 20% จากจำนวนประชากรทั้งหมด ส่งผลให้มีผู้ประกอบการเปิดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และสถานพยาบาลกว่า 800 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครประมาณ 400 ราย แต่ทั้งนี้ตัวเลขอาจสูงกว่าที่ระบุไว้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่กำกับธุรกิจนี้เป็นการเฉพาะ หรือ ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ธุรกิจนี้ต้องขึ้นทะเบียน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีจุดอ่อนของการพัฒนาธุรกิจ นั่นคือ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะการจัดการบริการสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งนักธุรกิจ ดังนั้น จึงควรกำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน


คนชรา

โดยเฉพาะค่าจ้างในการรับดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อัตราไม่ตํ่ากว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ บางบ้านถูกเรียก 3 หมื่นบาทขึ้นไป แต่นี่คือ ค่าจ้างสำหรับคนที่ไม่มีทักษะที่ผ่านการอบรมให้ความรู้จากภาครัฐ ขณะเอกชนได้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างสุขภัณฑ์ จัดทำโซนสำหรับผู้สูงอายุภายในบ้านและสถานพยาบาล ทั้งพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น กันกระแทก กันลื่น ราวจับ แต่ราคาแสนแพงใช่เล่น ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้


Print

ดังนั้น หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจึงจัดงานสัมมนา "ROAD to Silver Age เจาะขุมทรัพย์ หมื่นล้าน" ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.พ. 2562 เวลา 12.30-16.3 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในหัวข้อ ROAD to Silver Age : นโยบายภาครัฐรองรับสังคมสูงวัย

| ลงทะเบียน (ฟรี **จำนวนจำกัด**) : www.thansettakij.com/content/381567

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,441  วันที่ 3-6 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว