ลุย "อี-พาสปอร์ต" หมื่นล้าน เดินหน้าประมูล "เฟส 3" มี.ค.

03 ก.พ. 2562 | 08:22 น.
ขณะนี้ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) อยู่ระหว่างพัฒนา 2 โครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองให้มากขึ้น คือ 1.โครงการ "ไทย อี-วีซ่า" หรือ ระบบตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทยที่จะเป็นทางเลือกสำหรับชาวต่างชาติที่ยื่นขอวีซ่าออนไลน์ผ่านสถานทูตและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศเพื่อเดินทางเข้าไทย และ 2.โครงการให้บริการผลิตหนังสือเดินทาง อี-พาสปอร์ต ระยะที่ 3 สำหรับคนไทย ที่จะเปิดประมูลอี-บิดดิ้งในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อหาเอกชนเข้ามาลงทุน ... อ่านได้จากสัมภาษณ์ นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล

 

[caption id="attachment_382741" align="aligncenter" width="261"] ชาตรี อรรจนานันท์ ชาตรี อรรจนานันท์[/caption]

➣ ทุ่ม 35 ล้าน ดัน "อี-วีซ่า"

จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยใกล้จะถึง 40 ล้านคนต่อปี หากนับรวมประเทศที่ต้องยื่นขอวีซ่าเข้าไทย กับประเทศที่แม้ไม่ต้องขอวีซ่าแต่ต้องการมาไทยมากกว่า 15 วัน เกินกว่าสิทธิที่ได้รับการยกเว้น เช่น มาเที่ยวแบบลองสเตย์ หรือ มาทำงาน ก็จะมายื่นขอวีซ่าผ่านสถานทูตและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ คิดเป็นหลักกว่า 10 ล้านคนต่อปี กว่า 50% เป็นคนจีน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการมายื่นขอวีซ่าที่สนามบิน (VISA ON ARRIVAL) ในความรับผิดชอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขอวีซ่าเข้าไทย

ดังนั้น จากแนวโน้มการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ทำให้มีการยื่นขอวีซ่าผ่านสถานทูตและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทางกรมการกงสุลจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงการ "ไทย อี-วีซ่า" มากว่า 2 ปีแล้ว เพื่อลดขั้นตอนในการให้บริการ

ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพัฒนาเฟส 1 คือ การเปิดให้มายื่นขอสมัครทำวีซ่าและการชำระค่าธรรมเนียม 1 พันบาท ผ่านทางระบบออนไลน์ (www.thaievisa.go.th) แต่ผู้ขอวีซ่ายังคงต้องเดินทางมายังสถานทูต หรือ สถานกงสุล เพื่อแปะสติกเกอร์วีซ่าในตัวเล่มพาสปอร์ตอยู่ โดยธนาคารกสิกรไทยได้ผ่านการคัดเลือกจาก 3 ธนาคาร ให้เป็นหน่วยให้บริการ เพราะมีเน็ตเวิร์กในการรองรับและไม่เป็นภาระแก่ผู้บริโภค

แต่ท้ายสุดของการพัฒนา เรามองไปถึงการทำระบบให้เป็นอี-วีซ่าเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่ต้องมาแปะสติกเกอร์ในตัวเล่มหนังสือเดินทาง เพราะเป็นการทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์ 100% ซึ่งจะทยอยพัฒนาในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ภายใต้การจัดซื้อจัดจ้างในการทำระบบไม่เกิน 35 ล้านบาท


M103441A

➣ นำร่อง 3 ประเทศปีนี้

การพัฒนาเฟส 1 ของ "ไทย อี-วีซ่า" ในปีนี้ จะนำร่องเริ่มจาก 3 ประเทศก่อน คือ จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกประเทศมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ปริมาณคนเดินทางเข้าไทย 2.พิจารณาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงน้อย และ 3.ระบบไอทีมีความเสถียร จากนั้นจึงจะประเมินอีกครั้งในปีหน้า ว่า ระบบพร้อมจะขยายไปยังประเทศใดอีกบ้าง โดยเราตั้งเป้าหมายขยายสู่ทุกประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศทั่วโลกภายใน 3 ปี

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา "ไทย อี-วีซ่า" เต็มรูปแบบ ยังต้องขึ้นอยู่กับการทำงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วย ที่ต้องมีระบบที่ตรวจลงตราทางออนไลน์ได้ และขณะนี้ ทาง กต. ยังได้เสนอรัฐบาลไปแล้ว ถึงการขอให้แก้ไข พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ปี 2522 เพราะในกฎหมายระบุว่า ต้องมีการลงตราในเล่มพาสปอร์ตอยู่ แก้ไขให้เป็นการตรวจลงตราโดยอิเล็กทรอนิกส์ได้ ที่จะทำคู่ขนานไปกับระบบ "ไทย อี-วีซ่า" ของเรา


➣ ประมูล "อี-พาสปอร์ต" มี.ค.

นอกจากนี้ เรายังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการให้บริการผลิตหนังสือเดินทางอี-พาสปอร์ต เฟส 3 ที่จะเปิดให้เอกชนมายื่นซองประกวดราคาในเดือน มี.ค. นี้  คาดว่าในเดือน พ.ค. ปีหน้า ก็จะเริ่มใช้ได้ โดยจะเป็นการเก็บคุณลักษณะของบุคคลในระดับที่สูงขึ้น เพื่อความปลอดภัย เช่น การเพิ่มเติมเรื่องการสแกนม่านตา รวมถึงเพิ่มอายุพาสปอร์ตจาก 5 ปี เป็น 10 ปี เอกชนที่ชนะประมูลจะต้องลงทุนในเรื่องนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ราวหมื่นล้านบาท โดยเอกชนจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการทำพาสปอร์ตจำนวน 15 ล้านเล่ม หรือ 7 ปี (อันใดอันหนึ่งถึงก่อน)

อีกทั้งในระหว่างที่รอประมูลและทำโครงการนี้ ที่ใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่ง ประกอบกับบริษัทที่ให้บริการผลิตหนังสือเดินนทางอี-พาสปอร์ตปัจจุบัน ที่อยู่ในช่วงเฟส 2 ที่เราใช้อยู่ คือ การเก็บข้อมูลคุณลักษณะของบุคคลในลักษณะใบหน้าและลายนิ้วมือ แต่ขณะนี้พบว่า มีการทำพาสปอร์ตมากจนครบก่อนกำหนด 7 ล้านเล่ม หรือ 7 ปี ก็จะมีการขยายเวลาออกไประหว่างรอประมูลใหม่ในเฟส 3 ด้วย

| สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3441 ระหว่างวันที่ 3 - 6 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว