เปิดโมเดลโครงการประชารัฐภูเก็ต ฟังและทำตามดีมานด์ชุมชน

17 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
ช่วงนี้คนไทยคงได้ยินคำว่า “ประชารัฐ” กันหนาหู นั่นคือการสานพลังของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ เพื่อช่วยกันทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์และพันธะสัญญาร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมในการสนับสนุนขบวนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก สื่อสารสังคมให้เกิดความหวัง เกิดความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นอนาคตประเทศไทย เปิดขบวนสานพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงของชีวิต เกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน

ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ลงพื้นที่จังหวัดต่างๆเพื่อสำรวจข้อมูล โดยเริ่มต้นจังหวัดแรกที่ภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงแหล่งเพาะปลูกพืช ประมงน้ำเค็ม ฯลฯ ที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างดี

 หวังประชากรรายได้ต่อหัวสูงขึ้น

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กลุ่มการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ตามนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กล่าวว่า เศรษฐกิจฐานรากเป็นการทำงานเกี่ยวโยงกับชุมชน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดจะหยิบยื่นอะไรให้กับคนในพื้นที่ต้องสำรวจให้ชัดว่าคนในพื้นที่นั้นต้องการอะไร เนื่องจากคนในชุมชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์และสานต่อธุรกิจให้ยั่งยืน ทั้งนี้การลงพื้นที่ครั้งนี้แบ่งกลุ่มคนได้รับประโยชน์จากพื้นที่จังหวัดเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.นักลงทุนนอกจังหวัดภูเก็ต เช่น นักธุรกิจที่เข้ามาพัฒนาศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เช่น กลุ่มเซ็นทรัล อินเด็กซ์ เป็นต้น ซึ่งคนในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการความชัดเจนด้านสาธารณูปโภค และทิศทางการบริหารงานของผู้นำจังหวัด

2.คนในท้องถิ่นที่ประกอบธุรกิจต่างๆ หรือประกอบการค้ามาอย่างยาวนาน มีความพร้อมทำอาชีพ และ 3.กลุ่มคนที่หน่วยงานภาครัฐต้องพัฒนา หรือพื้นที่ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ และส่งเสริมให้ชุมชนแข็งแรงในอนาคต ซึ่งกลุ่มนี้โครงการประชารัฐต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

สำหรับโครงการเศรษฐกิจฐานรากมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.สร้างชุมชนมีรายได้ดีขึ้น 2.หาช่องทางการตลาดส่งเสริมชุมชน ขณะเดียวกันคณะทำงานต้องมุ่งพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แปรรูปสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และต้องมีช่องทางกระจายสินค้า รวมถึงผลักดันการท่องเที่ยวแบบชุมชน ซึ่งหากสามารถทำให้ชุมชนในจังหวัดนี้พัฒนา ประชากรก็จะมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น เมื่อประชาชนทั้งจังหวัดมีรายได้สูงขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดกำลังซื้อหมุนเวียน และหากทุกจังหวัดเป็นเช่นเดียวกันในอนาคตก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศได้

 ตั้งองค์กรอิสระบริหารจัดการ

ขณะเดียวกันในด้านเงินทุนโครงการนี้ เบื้องต้นได้มีแนวคิดกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดตั้ง “โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ “ หรือองค์กรอิสระ ขึ้นมาเป็นแกนกลางบริหารจัดการ และมีงบประมาณจากภาคเอกชนต่างๆใส่เข้ามารวมกัน ซึ่งองค์กรนี้จะทำหน้าที่หาตลาดกระจายสินค้า เช่น ผู้ปลูกสับปะรดทั้งหมดมารวมกันในสายงานสับปะรด หลังจากนั้นหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่หาตลาดให้ เมื่อขายได้และมีกำไร เอกชนจะไม่นำเงินกลับ แต่จะให้เงินไปต่อยอดช่วยเหลือทีมชาวสวน ผู้ประกอบการอื่นๆต่อไป

“การขับเคลื่อนธุรกิจบอกไม่ได้ใครเก่ง แต่อยู่ที่การปรับตัวเข้าใจสถานการณ์ เช่น ร้านพรทิพย์ ซึ่งเป็นร้านขายของฝากในภูเก็ตเป็นร้านที่ไม่ทำลายชุมชน พร้อมทั้งยังช่วยชุมชนภายใต้แบรนด์ของชุมชน ดังนั้นองค์กรอิสระที่เข้ามาจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจทุกระดับ ไม่ตัดทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการเข้ามาทำงานนี้ ส่วนตัวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเท่านั้น มีหลายหน่วยงานที่ช่วยกัน และหากจะช่วยให้ชุมชนลดความสูญเสียได้ เพิ่มช่องทางค้าขายมากขึ้น ก็จะเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจที่คล่องตัวและเชื่อมโยงมากขึ้น”

 เจาะโมเดลภูเก็ตแห่งแรก

นอกจากนี้ทาง นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้เผยว่า ปัญหาการเลือกลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นปัญหาคนที่อาศัยและประกอบอาชีพในพื้นที่นี้ กำลังได้รับความเดือดร้อน ทั้งเรื่องพื้นที่ถูกรุกล้ำเพื่อประกอบอาชีพ เกิดความเหลื่อมล้ำของประชากรในจังหวัด และในครั้งนี้หลังจากที่ได้เข้าไปพูดคุยและเห็นวิถีชีวิต ทำให้เห็นปัญหาหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ปัญหาเรื่องชาวสวนสับปะรดในท้องถิ่น ที่ไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน และถูกจังหวัดต่างๆพื้นที่รอบข้างเข้ามาแย่งตลาดโดยจำหน่ายราคาที่ต่ำกว่า ทั้งที่สับปะรดในจังหวัดภูเก็ตเป็นสินค้าชื่อดังในจังหวัดแห่งนี้ แต่นับวันจะถูกกลืนหายไป ขณะที่ชุมชนในพื้นที่ก็ถอยไปแทบไม่มีที่ยืนจากนักลงทุนประเภทต่างๆ อาทิ ท่องเที่ยว ร้านค้า อื่นๆ เป็นต้น ที่เข้ามาในจังหวัดแห่งนี้

“การมาภูเก็ตต้องการมาดูเศรษฐกิจฐานราก สำรวจ แก้ไขทำอย่างไรให้เงินประชาชนสะพัดและมีรายได้มากขึ้น ซึ่งกรอบที่ต้องทำจากนี้คือการเข้ามาดูวิถีชีวิตชาวเกษตรกร ผลิตสินค้าอย่างไร แปรรูปอะไรได้บ้าง และหาช่องทางการจัดจำหน่ายให้ ดังนั้นการทำงานครั้งนี้จึงต้องมีหน่วยงานทั้ง 3 ส่วนเข้ามาช่วยกัน ขณะเดียวกันโครงการนี้ต้องการสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น จากการผลิตสินค้า แปรรูป และมีช่องทางจำหน่าย ดังนั้นโครงการนี้จึงต้องมีเอกชนเข้ามาร่วมด้วย”

 ดันเข้าโครงการ Quick Win

อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยจะต้องเกิดความต้องการจากเกษตรกร หรือผู้ประกอบอาชีพเรียกร้องอย่างแท้จริง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมาที่คนไทยประสบอยู่คือ เกิดจากความต้องการของเกษตรกร ประชาชนในแต่ละจังหวัดมีความต้องการแตกต่างกัน ขณะที่ภาครัฐเองก็ตอบสนองความต้องการดังกล่าวลงมาไม่ถูกจุด ดังนั้น ดีมานด์และซัพพลายที่ผ่านมาจึงไม่เป็นไปในทางเดียวกัน แต่การสำรวจครั้งนี้หลังจากที่เห็นปัญหาของแต่ละพื้นที่แล้วเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ถูกจุดมากขึ้น

สำหรับช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ จะมีการประชุมทั้ง 12 คณะโครงการประชารัฐ โดยโครงการแรกที่จะมุ่งเน้นคือ Quick Win ซึ่งเป็นโครงการระยะสั้นที่ต้องเริ่มได้นับจากนี้ 3 เดือน ซึ่งจังหวัดภูเก็ตจะเป็น 1 ในโมเดลที่จะนำเข้าเสนอที่ประชุมในโครงการ Quick Win ด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการพื้นที่อื่นๆทยอยตามมาอย่างต่อเนื่องอาทิ เพชรบุรี เป็นต้น ทั้งนี้โครงการดังกล่าวแบ่งกรอบระยะเวลาไว้ 3 ช่วง คือ ระยะสั้น 3 เดือน ระยะกลาง 12 - 18 เดือน และระยะยาว 3 ปีขึ้นไป

 ทำตามดีมานด์ชุมชน

นายสนธยา คงทิพย์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ตำบลเชิงทะเล กล่าวว่า ต้องการให้ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ อุตสาหกรรม และเอกชน เข้ามาช่วยให้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรมีภูมิปัญญาท้องถิ่น ลองผิดลองถูก แม้ชุมชนจะมีความรู้การแปรรูปสินค้า แต่ด้านการบูรณาการยังไม่เต็มที่ ประกอบกับการขาดฝ่ายสนับสนุน รวมถึงปัญหาด้านการเมืองแบ่งฝักฝ่ายส่งผลให้ชุมชนไม่แข็งแรง ขณะเดียวกันสิ่งที่น่ากังวลในจังหวัดภูเก็ตคือเรื่องของอาชญากรรม และยาเสพติด ซึ่งปัญหาดังกล่าวมาจากชุมชนไม่มีงานทำ ค่าแรงต่ำ ส่งผลให้กลุ่มคนดังกล่าวเลือกหาทางออกโดยการก่ออาชญากรรม และขายยาเสพติด

อีกทั้งยังประสบปัญหาด้านภัยแล้ง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีน้ำทำเกษตร ประกอบกับมีพื้นที่เหลือน้อย เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว ดังนั้นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยอยากให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ที่คุ้มค่า ยั่งยืน รวมถึงได้อานิสงค์จากการเป็นเมืองท่องเที่ยว

ด้านนายสุภโรจน์ ทรงยศ ประธานศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ บ้านม่าหนิก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เผยว่า ปัจจุบันศูนย์ให้บริการเป็นแหล่งศึกษาดูงานแก่ผู้ทำกลุ่มองค์กรในพื้นที่อำเภอถลาง และพื้นที่ใกล้เคียง ให้บริการปุ๋ยชีวภาพราคาถูกแก่ประชาชน และจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษ โดยความคาดหวังจากหน่วยงานที่เข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดแผนในอนาคต คือ 1.สร้างอาคารร้านค้าชุมชน 2.โฮมสเตย์ 3.ปลูกป่าสมุนไพร 4.อาคารเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และลานออกกำลังกาย

“การรวมตัวของศูนย์แห่งนี้เกิดขึ้นจากสมาชิกในหมู่บ้านรวมตัวกัน เพื่อปลูกพืชผักไร้สารพิษไว้บริโภค เนื่องจากอาหารในปัจจุบันมีสารเคมีตกค้างจำนวนมาก ทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์ได้ยึดพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด คือ จงอย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความแคลนให้บรรลุผล จงทำด้วยความเต็มใจและซื่อสัตย์”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559