"วงการเหล็ก" ชี้ยุติ "เซฟการ์ด" พังแน่!!

30 ม.ค. 2562 | 10:18 น.
ผู้ผลิต-ผู้ใช้ประสานเสียงยืดมาตรการเซฟการ์ดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยด์ อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศพังแน่ วอนรัฐฯ ต่ออายุเซฟการ์ดที่กำลังหมดอายุลงวันที่ 26 ก.พ. 2562 ป้องกันสงครามทางการค้า สินค้าเหล็กที่ไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศที่มีมาตรการทางการค้าระบายเข้ามา เผย หลายประเทศใช้มาตรการเซฟการ์ดในรูปแบบพิเศษ เปิดไต่สวนสินค้าเหล็กหลายประเภทในคราวเดียว ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทยและผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมฯ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวกระทรวงพาณิชย์ไม่ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือ เซฟการ์ด ของสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยด์ ซึ่งมาตรการจะหมดอายุลงในวันที่ 26 ก.พ. 2562 ว่า ได้สร้างความแตกตื่นให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กทั้งวงการ เนื่องจากขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างมีนโยบายในการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศจากสงครามทางการค้า แต่ประเทศไทยกลับมีนโยบายที่สวนกระแสโลก เซฟการ์ดเป็นมาตรการที่มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์สงครามทางการค้าของสหรัฐอเมริกา-จีน ซึ่งปัจจุบัน ประเทศผู้นำเข้าเหล็กรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ที่ใช้มาตรการ 232

1 นาวา ล้อมกรอบ

สหภาพยุโรป ตุรกี และแคนาดา ใช้มาตรการเซฟการ์ดในรูปแบบพิเศษ ที่เปิดไต่สวนสินค้าเหล็กหลายประเภทในคราวเดียว ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น สินค้าเหล็กที่ไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ ย่อมต้องถูกระบายไปยังประเทศที่ไม่มีมาตรการทางการค้า และหากไทยยุติมาตรการเซฟการ์ดในช่วงนี้ ก็จะทำให้เกิดวิกฤติต่ออุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศ ดังเช่นในปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงก่อนบังคับใช้มาตรการผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนบางรายต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวไปเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี และหากมองจากสถานการณ์ในครั้งนี้ผลกระทบจะมีความรุนแรงเป็นทวีคูณอย่างแน่นอน

“หากมีสินค้าไหลทะลักเข้ามาหลังยุติมาตรการ กลุ่มผู้ผลิตในประเทศที่มีการลงทุนไปกว่า 200,000 ล้านบาทอาจต้องเผชิญอุปสรรคที่ใหญ่หลวงที่สุดในการดำเนินธุรกิจ และอาจจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้า และธนาคารเจ้าหนี้ รวมถึงส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ต้องใช้เงินดังกล่าวเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ”

ทั้งนี้ กลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อขอให้พิจารณาใช้มาตรการค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็ก (Surcharge) กรณีที่ไม่มีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการ Safeguard ตามที่ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ได้อนุมัติในหลักการให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) สำหรับสินค้าเหล็กกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากมาตรการของรัฐ ตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520

รวมถึงจะเข้ายื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ภายในสัปดาห์นี้เพื่อชี้แจงความจำเป็นของการต่ออายุมาตรการ Safeguard และความเสียหายของอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศกรณีไม่มีมาตรการ” นายนาวากล่าว

นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ซึ่งเป็นสมาคมหลักที่เป็นผู้ใช้สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “สมาชิกของสมาคมเป็นผู้ใช้สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ก็มีทั้งการนำเข้าและซื้อสินค้าในประเทศ และถึงแม้มีมาตรการเซฟการ์ด สินค้าในประเทศก็มีการปรับขึ้นลงตามสถานการณ์ตลาดและต้นทุนในการผลิต ไม่ได้ถือโอกาสปรับราคาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสมาชิกฯ ก็ยินดีสนับสนุนการใช้สินค้าในประเทศ เพื่อให้ทั้งอุตสาหกรรมสามารถดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ แต่หากภาครัฐไม่มีการบังคับใช้มาตรการเซฟการ์ดต่อไปในช่วงนี้ และเกิดขึ้นอย่างกระชั้นชิด ไม่มีเวลาให้อุตสาหกรรมในประเทศได้เตรียมตัว (จะมีการพิจารณาในเดือน ก.พ. และมาตรการจะหมดอายุวันที่ 26 ก.พ. 62) เชื่อว่าอุตสาหกรรมเหล็กทั้งห่วงโซ่การผลิตต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

เนื่องจากสินค้าที่จะไหลทะลักเข้ามาโดยเฉพาะจากจีนมีราคาต่ำมากผิดปกติ จะส่งผลให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมปลายน้ำจะเกิดการชะงักงัน การทำธุรกิจชะลอตัว เนื่องจากผู้ผลิตและผู้ซื้อไม่มีความมั่นใจในราคาสินค้า ผู้ประกอบการต้องแบกภาระต้นทุนที่เกิดขึ้น และสุดท้ายต้องประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากต้องลดราคาสินค้าตามราคาสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ไหลทะลักเข้ามา ดังนั้น สมาคมฯ ในฐานะผู้ใช้หลักขอสนับสนุนให้ภาครัฐขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการเซฟการ์ดต่อไป 3 ปี หรืออย่างน้อยจนกว่าปัญหาสงครามทางการค้าจะยุติลง รวมถึงให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังไม่มีมาตรการได้เสียก่อน"

นอกจากนี้ นายเชาวรัตน์ จั่นประดับ นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย และ นายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "สมาคมฯ สนับสนุนการขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการเซฟการ์ดเช่นกัน เนื่องจากหากยุติมาตรการอย่างกะทันหันเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั้งห่วงโซ่การผลิตอย่างแน่นอน และสำหรับสมาชิกของสมาคมที่เป็นนักลงทุนต่างชาติจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ คาดว่าไม่น่าจะเกิดการขอชดเชยและการตอบโต้จากทั้ง 2 ประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศเป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็กชั้นคุณภาพพิเศษ และเหล็กแผ่นรีดร้อนสำหรับการรีดเย็นต่อได้รับการยกเว้นมาตรการอยู่แล้ว จึงไม่กระทบใด ๆ"

2.พงเทพ ล้อมกรอบ

ในมุมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการเซฟการ์ดนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภายในขณะดำเนินการปรับตัวเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้า ดังนั้น การยุติมาตรการโดยให้เหตุผลว่า อุตสาหกรรมภายในไม่มีความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

โดยในการขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการเซฟการ์ดในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นไปเพื่อป้องกันความเสียหายตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้เช่นกัน

3 วิกรม ล้อมกรอบ

นอกจากนี้ จากปัญหาความรุนแรงของสงครามทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ที่ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการใช้มาตรการเซฟการ์ดและมาตรการอื่น ๆ คุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กของตน แต่ไทยกลับจะยุติมาตรการเซฟการ์ด ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ การยุติมาตรการจึงเป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม นับเป็นอีกครั้งที่อุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและอุตสาหกรรมปลายน้ำได้ ซึ่งเป็นผู้ใช้หลักได้ออกมาให้ความเห็นที่สอดคล้องกันเช่นนี้ ว่า การยุติมาตรการเซฟการ์ดจะเป็นการสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเหล็กทั้งห่วงโซ่การผลิต ไม่ใช่เฉพาะผู้ผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเท่านั้น ดังนั้น จึงขอความกรุณาคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องทบทวนผลการพิจารณาเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถเดินหน้าต่อไปได้

595959859