"สงครามการค้า" พักรบชั่วคราว "2 แสนล้านดอลลาร์" ลุ้น

30 ม.ค. 2562 | 05:58 น.
300162-1251

จีนงัดคณะเจรจาการค้าชุดใหญ่ "หลิว เหอ" มือขวาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" นำทีมเยือนสหรัฐฯ สิ้นเดือนนี้ เดินหน้าแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ถูกขีดเส้นตาย ต้องหาข้อตกลงให้ได้ภายในวันที่ 1 มี.ค. 62 ไม่เช่นนั้นการตั้งกำแพงภาษีสินค้าระลอกใหม่ มูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง

"วิลเบอร์ รอส"
รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ส่งสัญญาณเตือนบรรยากาศการเจรจายังอึมครึม อย่าเพิ่งหวังมากเกินไป ต่างฝ่ายต่างต้องการข้อตกลงที่น่าพอใจ แต่หนทางการเจรจายังอีกยาวไกล

ระหว่างวันที่ 30-31 ม.ค. 2562 นี้ นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน พร้อมคณะรวม 30 ชีวิต จะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความคืบหน้าในการเจรจาหาข้อตกลงทางการค้าที่จะยุติการตอบโต้กันทางภาษี ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2561 และกำลังอยู่ในช่วง "สงบศึกชั่วคราว" เป็นเวลา 90 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 1 มี.ค. ที่กำลังจะมาถึง นั่นหมายความว่า คณะเจรจามีเวลาอีกเพียงกว่า 30 วัน ที่จะหาข้อตกลงที่น่าพึงพอใจสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย

 

[caption id="attachment_381777" align="aligncenter" width="339"] หลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน หลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน[/caption]

อะไร คือ คำว่า การเจรจาประสบความสำเร็จ? นักวิเคราะห์ชี้ว่า มองในมุมของสหรัฐฯ การเจรจาจะได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจนั้น ก็ต่อเมื่อจีนเปิดตลาดให้กับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มากขึ้น ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และแน่นอนว่า ต้องมีมาตรการให้สหรัฐฯ สามารถตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ว่า จีนลงมือปฏิบัติตามที่รับปากไว้จริง ๆ ส่วนความสำเร็จในมุมมองของจีน คือ สหรัฐฯ จะต้องลดหรือยกเลิกกำแพงภาษีสกัดกั้นสินค้าส่งออกของจีนที่นำมาบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับความคาดหวังถึงผลการเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของ นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน และคณะ ระหว่างวันที่ 30-31 ม.ค. นี้ ว่า หนทางบรรลุสู่การแก้ไขปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น ยังอีกยาวไกลนัก เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งคาดหวังอะไรมากเกินไป ทรรศนะดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีวอลล์สตรีตร่วงลงทันที สะท้อนความอ่อนไหวของตลาดที่มีต่อข่าวการเจรจาการค้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

"ผมเชื่อว่า จีนต้องการจะทำข้อตกลงและฝ่ายเราเองก็ต้องการข้อตกลง แต่มันต้องเป็นข้อตกลงที่น่าพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากจะบอก คือ อย่าไปคาดหวังว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ คือ คำตอบของทุก ๆ ปัญหาการค้าที่มีอยู่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน" นั่นคือ ส่วนหนึ่งของข้อคิดเห็นที่รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวกับสื่อและมีผลให้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (24 ม.ค.) ร่วงลงไป 22.38 จุด หรือ -0.09% ปิดตลาดที่ 24,553.24 จุด

ดาวโจนส์ปิดลบ 22.38 จุด กังวลเจรจาการค้าไม่คืบ

นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา (2561) สหรัฐฯ และจีนโต้ตอบกันด้วยมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของกันและกันครอบคลุมการค้าสินค้า คิดเป็นมูลค่ารวม (2 ฝ่าย) กว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ว่า การพบปะกันจะมีขึ้นตามกำหนด ไม่ได้ถูกฝ่ายสหรัฐฯ เลื่อนหรือยกเลิกตามที่มีข่าวลือออกมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

สิ่งที่โลกกำลังจับตา ก็คือ ถ้าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่มีความคืบหน้า และแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้าจีนในวันที่ 2 มี.ค. นี้ ครอบคลุมสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเส้นตายการพักรบชั่วคราว 90 วัน สิ้นสุดลงนั้น ผลกระทบจะเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่มองว่า เรื่องนี้มีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อย่างแน่นอน

 

[caption id="attachment_381779" align="aligncenter" width="500"] "สงครามการค้า" พักรบชั่วคราว "2 แสนล้านดอลลาร์" ลุ้น เพิ่มเพื่อน [/caption]

หนึ่งในเสียงสะท้อนจากประเทศคู่ค้าของทั้งจีนและสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย มาจาก นายเฮง สวี เกียต รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ ที่กล่าวบนเวทีเสวนาเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่า จำเป็นอย่างมากที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องหายุติสงครามการค้า เพราะผลกระทบเชิงลบจะแผ่กระจายและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงในปีนี้ ที่สำคัญ คือ การเผชิญหน้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตและเส้นทางโลจิสติกส์ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น บริษัทจีนมีแนวโน้มจะออกมาลงทุนผลิตในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่กีดกันสินค้าส่งออกจากจีน คลื่นทุนจีนที่ไหลทะลักออกมาผลิตนอกประเทศจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตของโลกไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,439 วันที่ 27 - 30 ม.ค. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"Brexit-สงครามการค้า" กดตลาดเงิน "ค่าบาท" ยังผันผวน
'อมตะ' ส้มหล่น! ทุนจีนย้ายฐานผลิต หนีสงครามการค้า


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก