คว่ำบาตรบริษัทนํ้ามัน! สหรัฐฯ โหมไฟ "วิกฤติเวเนซุเอลา"

01 ก.พ. 2562 | 08:42 น.
วิกฤติเศรษฐกิจใน 'เวเนซุเอลา' ประเทศที่อดีตเคยรํ่ารวย เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและส่งออกนํ้ามันรายใหญ่ของโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า มีปริมาณนํ้ามันดิบสำรองมากที่สุดในโลก กำลังขยายระดับความรุนแรงกลายเป็นวิกฤติการเมืองที่คุกรุ่น พร้อมจะระเบิดเป็นวิกฤติการเมืองระหว่างประเทศได้ทุกเมื่อ

นับตั้งแต่ที่ ประธานาธิบดี "นิโกลัส มาดูโร" สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2013 และครั้งที่ 2 ในปี 2018 ความระสํ่าระสายทางการเมืองของเวเนซุเอลาก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงมาจากนโยบายของรัฐบาลชุดเก่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดี "ฮูโก ชาเวซ" (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 1999-2013) ที่ยึดกิจการ สำคัญ ๆ ต่าง ๆ มาเป็นของรัฐ ทั้งนํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงอุตสาหกรรมภาคบริการอย่างธนาคารและการขนส่ง ฯลฯ ทำให้รายได้ของรัฐขึ้นอยู่กับบรรดารัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดการแข่งขัน สวัสดิการและค่าครองชีพที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐเริ่มประสบปัญหา เมื่อรายได้จากนํ้ามันลดลง ปลายยุคของ 'ชาเวซ' เศรษฐกิจเวเนซุเอลาประสบปัญหารายได้จากการส่งออกนํ้ามันที่เป็นรายได้หลักลดวูบ พร้อม ๆ กับปริมาณการผลิตและส่งออกที่ลดลงเช่นกัน นายชาเวซเสียชีวิตในปี 2013 และส่งต่อปัญหาเงินเฟ้ออัตราสูงลิ่วและการเงินที่ขาดสภาพคล่องอย่างหนักเป็นมรดกให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดีมาดูโรที่เข้ามารับช่วงต่อ สภาวะขาดแคลนอาหาร ยา และของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสวัสดิการสังคมที่ทรุดถอย ทำให้อาชญากรรมและปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา รวมทั้งการอพยพของประชาชนออกนอกประเทศจำนวนนับล้านคน

 

[caption id="attachment_381545" align="aligncenter" width="503"] นิโกลัส มาดูโร นิโกลัส มาดูโร[/caption]

การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลมีความรุนแรงมากขึ้น และนั่นก็เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่ทำให้ประธานาธิบดีมาดูโรสั่งกำราบบรรดาแกนนำฝ่ายค้านและกลุ่มต่อต้านรัฐบาล "การละเมิดสิทธิมนุษยชน" กลายเป็นประเด็นที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงและควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจเวเนซุเอลาในระดับหนึ่ง เช่น การขึ้นบัญชีดำนายมาดูโรและภริยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่คนสนิท 13 คน และล่าสุด (28 ม.ค.) รัฐบาลสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีคลังและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงได้ประกาศควํ่าบาตรเวเนซุเอลาอีกระลอก โดยคราวนี้จะพุ่งไปที่ธุรกิจบริษัทนํ้ามันแห่งชาติ (Petroleos de Venezuela) ที่เป็นท่อนํ้าเลี้ยงของประธานาธิบดีมาดูโร เป็นการตอบโต้การที่ผู้นำเวเนซุเอลาประกาศขับนักการทูตของสหรัฐฯ ออกจากเวเนซุเอลาภายใน 72 ชั่วโมง (ซึ่งภายหลังมีการปรับคำสั่งขยายเวลา) และเพื่อตอกยํ้าท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ที่ให้การรับรองและสนับสนุน "นายฮวน กุยโด" ประธานสมัชชาแห่งชาติเวเนซุเอลา ผู้ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาล เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ เป็นชาติแรกที่ให้การรับรองนายกุยโด ตามมาด้วยอีกหลายประเทศ


TP12-3440-A

อย่างไรก็ตาม นายมาดูโรยืนยันสถานะการเป็นผู้นำของเขาได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเวเนซุเอลา ท่ามกลางการเรียกร้องของฝ่ายนายกุยโดให้ประชาชนออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่ในช่วงกลางและปลายสัปดาห์นี้ เพื่อแสดงพลังขับไล่ประธานาธิบดีมาดูโร ท่ามกลางสถานการณ์ที่คุกรุ่นพร้อมนำไปสู่การเผชิญหน้าครั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ว่า จะส่งผลกระทบต่อราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ข่าวการควํ่าบาตรบริษัทนํ้ามันรายใหญ่ของเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคานํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว เนื่องจากเชื่อว่า มาตรการควํ่าบาตรดังกล่าวจะส่งผลให้โรงกลั่นในสหรัฐฯ จำเป็นต้องหาแหล่งนํ้ามันอื่นมาทดแทนน้ำมันจากเวเนซุเอลาในราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน สหรัฐฯ นำเข้านํ้ามันดิบจากเวเนซุเอลามากเป็นอันดับ 3 หรือ 4 สถิติล่าสุดในปี 2017 ชี้ว่า เวเนซุเอลาครองส่วนแบ่งตลาดนํ้ามันดิบหนัก (Heavy Crude Oil) นำเข้าในตลาดสหรัฐฯ ประมาณ 6%

ท่ามกลางบริบทที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกนํ้ามัน (โอเปก) กำลังใช้มาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อดันราคานํ้ามันให้สูงขึ้น เมื่อประกอบกับการที่ปริมาณนํ้ามันจากเวเนซุเอลาจะลดลงภายใต้มาตรการควํ่าบาตรของสหรัฐฯ ราคานํ้ามันดิบโลกจึงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างไม่ปกติในช่วงเวลานี้ และเป็นไปได้ว่าจะผกผันตามวิกฤติความรุนแรงของสถานการณ์การเมืองในเวเนซุเอลาที่ใกล้ถึงจุดเดือดและต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงสัปดาห์นี้

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,440 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2562

595959859