รฟม.ปรับศูนย์ซ่อมรถไฟสายม่วงใต้ เปลี่ยนเป็นจุดจอดลดงบซ้ำซ้อน

19 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
"อาคม" ลังเลปรับลดศูนย์ซ่อมพระประแดงของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เหลือเพียงจุดจอดแล้วจร ให้เหลือเพียงรางจอดรอเปลี่ยนขบวนรถเท่านั้นหวังช่วยปรับลดงบประมาณของรัฐหลังโดนไล่บี้กรณีให้ปรับลดงบประมาณที่สิ้นเปลืองซ้ำซ้อนกัน สายสีม่วงโดนปรับลดแล้วกว่า 2 พันล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีนโยบายให้กระทรวงคมนาคมปรับลดงบประมาณโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ นั้นล่าสุดได้รับรายงานเบื้องต้นจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า โครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ที่ยังไม่มีการเปิดประมูลอยู่ระหว่างการปรับลดงบประมาณแต่ละโครงการ ทั้งกรณีการปรับลดวัสดุและรายการอื่นๆ ที่จะซ้ำซ้อนกัน อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุงที่สามารถจะใช้งานร่วมกันได้หรือไม่

ปัจจุบันรฟม.ยังไม่ได้เสนอเรื่องขึ้นมาให้พิจารณากรณีจัดปรับลดงบประมาณการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถที่พระประแดง-ราษฎร์บูรณะของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ตามที่ครม.ให้ช่วยปรับลดงบประมาณ โดยคงต้องรอให้รฟม.นำเสนอขึ้นมาพิจารณาก่อนว่าท้ายที่สุดแล้วจะช่วยปรับลดงบประมาณไปได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากสามารถไปใช้ร่วมกับศูนย์ซ่อมที่บางไผ่ย่านบางใหญ่ได้ด้วย

"ตามแผนล่าสุดจะขยายแนวเส้นทางออกไปอีก 5 กิโลเมตรเนื่องจากประชาชนชาวราษฎร์บูรณะต่อต้าน แต่ในทางปฏิบัติสุดท้ายคงต้องรอผลสรุปที่ชัดเจนของรฟม.อีกครั้งจะใช้ร่วมที่บางใหญ่ก็เพียงพอ ล่าสุดนั้นปรับลดขนาดศูนย์ซ่อมเหลือเพียงจุดจอดพักรถเท่านั้น ไม่ได้สร้างเป็นศูนย์ซ่อมขนาดใหญ่แล้ว"

ด้านพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการรฟม. กล่าวว่า ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่ครม.ได้ขอให้ปรับลดวงเงินลงอีกนั้น เดิมปรับลดไปได้แล้วประมาณ 1 พันล้านบาท ล่าสุดได้มีการปรับลดลงเพิ่มได้อีกบางส่วน

"ศูนย์ซ่อมและอาคารจอดรถบางไผ่ที่ย่านบางใหญ่ของสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ได้ก่อสร้างเพิ่มเป็น 10 ชั้นจากเดิมมีเพียง 4 ชั้น เพื่อรองรับการใช้งานให้เพียงพอมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่มุ่งหน้าสู่ศูนย์ราชการนนทบุรีก็สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้นำรถมาจอดไว้ที่บางไผ่ ในส่วนสายสีส้มนั้นครม.ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้วัสดุซึ่งมีบางรายการจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งได้ปรับตามราคาที่เป็นจริงอ้างอิงจากราคาพลังงานเป็นมาตรฐานปรับลดไปแล้วประมาณ 1 พันล้านบาท ล่าสุดกระทรวงคมนาคมสั่งให้ปรับลดลงอีกจากกรณีไม่ใส่ฝ้าเพดานปิดพบว่าลดค่าใช้จ่ายไปได้กว่า 200 ล้านบาท ผนังก็เปลี่ยนจากวัสดุกระเบื้องแกรนิตเป็นกระเบื้องธรรมดา ลดขนาดหนาจาก 3 มิลลิเมตรเหลือเพียง 2 มิลลิเมตร แฟลตฟอร์มยังคงจะไม่ปูพื้นจะใช้สนามหญ้าไปพลางก่อน แต่จะไม่ให้กระทบเรื่องความปลอดภัยพบว่าสามารถปรับลดงบได้แล้วกว่า 2 พันล้านบาทภายในสัปดาห์นี้ก็จะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเสนอครม.ต่อไป"

ด้านนายกมล วรรธนคณิณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือขอเข้าพบพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เพื่อรายงานข้อดีและความคุ้มค่าในการเลือกใช้แกรนิตที่จะนำไปใช้ปูพื้น บันไดและผนังอาคารในโครงการรถไฟฟ้าที่รฟม.จะดำเนินการในปัจจุบันซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่จะใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งวัสดุประเภทแกรนิตสามารถใช้ในการปูพื้น บันได และผนังได้อย่างมีคุณภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์กระเบื้องที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยแกรนิตมีความแข็งแรงกว่า ลีลางดงาม ราคาต่ออายุการใช้งานคุ้มค่ากว่า การบำรุงรักษาง่าย ทนทานกว่ากระเบื้องธรรมดาหลายเท่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559