"สุภัทรา เรียลเอสเตท" ผุดโครงการใหม่ "อีเวนต์สเปซ หัวหิน"

01 ก.พ. 2562 | 03:00 น.
| สัมภาษณ์พิเศษ : ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุภัทรา เรียลเอสเตท จำกัด

| เขียน : พัฐกานต์ เชียงน้อย

……………….


หลังประสบความสำเร็จกับการปรับปรุงพื้นที่บริเวณท่าเรือมหาราชและท่าเรือวังหลังให้กลายเป็นคอมมิวนิตีมอลล์ในรูปแบบอีเวนต์สเปซ ที่มีทั้งร้านค้าและลานกิจกรรม รวมทั้งจุดนั่งพักผ่อน ... นางสาวณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุภัทรา เรียลเอสเตท จำกัด ก็เตรียมพร้อมที่จะขยายตลาดพัฒนาแลนด์แบงก์เพิ่มอีก 1 แห่งในปีนี้ ที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์

นางสาวณัฐปรี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แผนพัฒนาแลนด์แบงก์ของกลุ่มธุรกิจสุภัทรายังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยปีนี้มีแผนที่จะขยายโครงการใหม่ ๆ ออกสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณหัวหิน ซึ่งบริษัทมีโรงแรมอยู่แล้ว คือ "สุภัทรา หัวหิน รีสอร์ท" และมีร้านอาหาร "สุภัทรา บายเดอะซี" อยู่ติดกับบริเวณเชิงเขาตะเกียบ พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาเป็นที่ลักษณะคล้าย ๆ ท่าเรือมหาราช เป็นอีเวนต์สเปซ แต่มีกลิ่นอายของความเป็นโลคัล ซึ่งจะทำให้บรรยากาศของโครงการนี้ต่างจากที่ท่าเรือมหาราช

 

[caption id="attachment_381459" align="aligncenter" width="335"] ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม[/caption]

"เราพอเข้าใจตลาด แต่มันไม่เหมือนกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ 7 วัน ทราฟฟิกจะใกล้เคียงกัน วันเสาร์-อาทิตย์จะไม่ต่างจากวันธรรมดาเท่าไร แต่หัวหินวันหยุดกับวันธรรมดามันจะต่างกันชัดเจน ภายในไตรมาส 2 เราจะเริ่มทำแผนงานได้ชัดเจนมากขึ้น"

การพัฒนาพื้นที่แต่ละแห่งของ "กลุ่มสุภัทรา เรียลเอสเตท" ส่วนใหญ่เน้นพัฒนาเป็นโรงแรมและคอมมิวนิตีมอลล์ โดยศึกษาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ปรับแต่งพื้นที่ตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น การพัฒนาท่าเรือมหาราช เมื่อก่อนเป็นท่าเรือและที่จอดรถของเด็กธรรมศาสตร์ พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ และเป็นจุดศูนย์กลางของวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ มหาวิทยาลัย ถนนข้าวสาร ซึ่งเหมาะกับการพัฒนาเป็นพื้นที่รีเทล จากเดิมที่บริเวณดังกล่าวไม่มีรีเทลเลย เราฟีดคนจากท่าเรือที่มีอยู่ 3 ท่าบริเวณนี้ หลังจากปรับปรุงพื้นที่แล้ว ทำให้รายได้ของท่าเรือมหาราชเพิ่มขึ้นถึง 35 เท่า

ส่วนพื้นที่บริเวณท่าเรือวังหลัง ที่นี่เป็นการรีโนเวต จากเดิมที่ไม่มีการจัดโซนนิ่งหรือจัดระเบียบร้านค้า ไม่มีการบริหารจัดการอาคารและแม่บ้าน ทีมที่พัฒนาพื้นที่ท่าเรือมหาราชก็เข้าไปพัฒนาปรับแต่งพื้นที่ชั้น 2 เป็นร้านอาหารทั้งหมด ข้างล่างเป็นโซนกาแฟ ข้างหลังเป็นโซนช็อปปิ้ง แล้วมาจัดการลื่นไหลของทราฟฟิก (Flow Traffic) ของท่าเรือทั้งหมด ทำให้ไม่แออัด


3

กลุ่มเป้าหมายของทั้ง 2 ท่าเรือต่างกัน ท่าเรือมหาราชเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมีจุดที่เตรียมไว้สำหรับการเช็กอินและการถ่ายรูปสวย ๆ ส่วนท่าเรือวังหลังจะเป็นโลคัล ขนาดพื้นที่เล็กกว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวตํ่ากว่า แต่ได้ปริมาณคนที่มากกว่า เพราะมีทั้งหมอ พยาบาล คนสัญจรไปมา การบริหารจัดการเน้นบริบทตามสถานที่ โดยไอเดียการพัฒนาที่แต่ละแห่งมาจากคณะกรรมการบริหาร หลังจากนั้นก็มีการทำเซอร์เวย์ วิจัยดูว่ามีกำลังซื้อและเป็นที่ต้องการของตลาดตามที่มองไว้หรือไม่

"คนที่จะมาไหว้ศาลหลักเมือง มาวัดพระแก้ว มาสวดมนต์ข้ามปี ก็ต้องมาท่ามหาราช มากินกาแฟ หรือมานวด รอเพื่อน เราเป็นจุดสต็อปให้เขา เราไม่ใช่ Final Destination เป็นจุดแวะ มากินข้าวแล้วค่อยไป เพราะขนาดเราเล็ก มีแค่ 40 ร้านค้า บริเวณนี้ไม่ใช่ย่านที่อยู่อาศัย ด้วยความตั้งใจจึงไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ต เราเลยโฟกัสที่คาเฟ่เก๋ ๆ เป็นไลฟ์สไตล์ มาถ่ายรูป มากินอาหาร ที่นี่คนจะเยอะตั้งแต่เช้า และบ่ายแก่ ๆ มีบรรยากาศริมนํ้าที่สวยงาม" ผู้บริหาร สุภัทรา เรียลเอสเตท กล่าว

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,440 วันที่ 31 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2562

595959859