เอสพีพี 14 แห่ง ทุ่ม 7.7 หมื่นล้าน ผุดโรงไฟฟ้าใหม่รับอีอีซี

02 ก.พ. 2562 | 02:11 น.
เอสพีพี 14 แห่ง ในพื้นที่อีอีซี เตรียมแผนลงทุน 7.7 หมื่นล้านบาท ผุดโรงไฟฟ้าใหม่ 1.6 พันเมกะวัตต์ รองรับขยายการลงทุน หลังล่าช้ามา 2 ปี นักลงทุนลังเลหวั่นไฟฟ้าขาด ขณะที่ 'ประยุทธ์' สั่งกระทรวงพลังงานลงทุนระบบสมาร์ตกริด ให้ผู้ประกอบการได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

มีความชัดเจนแล้ว สำหรับโรงไฟฟ้าเอสพีพีระบบ Cogeneration ที่หมดอายุในช่วงปี 2560-2568 จำนวน 25 โรง กำลังผลิตติดตั้ง 2,974 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้รับการต่ออายุสัญญา หรือ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ลดความวิตกกังวลจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ


TP5-3440-A

โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหญ่ ซึ่งเป็นลูกค้าของเอสพีพีในพื้นที่อีอีซี จำนวน 18 โรง กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 2,133.9 เมกะวัตต์ ต่างกังวลว่า หากโรงไฟฟ้าเอสพีพีไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามกำหนด เนื่องจากมีการพิจารณาล่าช้ามากว่า 2 ปี ซึ่งจะกระทบต่อความเสถียรและเสี่ยงต่อการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า สร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชันในระบบผลิต

เมื่อมาไล่เลียงโรงไฟฟ้าเอสพีพีที่ได้ต่อสัญญาออกไป 3 ปี จากที่หมดอายุในช่วงปี 2559-2561 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า 4 แห่ง กำลังผลิตรวม 526 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้รับอนุมัติก่อสร้างใหม่ โรงไฟฟ้าหมดอายุช่วงปี 2562-2564 ได้ต่อสัญญาออกไป 3-4 ปี เพื่อรอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ จำนวน 4 โรง รวมกำลังผลิต 416.34 เมกะวัตต์ และหมดอายุช่วงปี 2565-2568 ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 10 โรง รวมกำลังผลิต 1,190.88 เมกะวัตต์ หากรวมโรงไฟฟ้าเอสพีพีที่จะก่อสร้างใหม่ จำนวน 14 โรง รวมกำลังผลิต 1,607.22 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท เพื่อมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี โดยยังไม่รวมโรงไฟฟ้าเอสพีพีอีก 4 แห่ง ที่หมดอายุช่วงปี 2559-2561 ว่า จะได้รับการอนุมัติให้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้หรือไม่

นายโชติ ชูสุวรรณ กรรมการเลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การได้ต่อสัญญาและอนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ มีสัญญา 25 ปี จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษฯ ว่า จะมีการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการและสามารถขยายการลงทุนในพื้นที่เดิมต่อไปได้ อีกทั้งจะก่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มมากขึ้น เพราะโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างใหม่จะต้องใช้เงินลงทุนเฉลี่ยไม่ตํ่ากว่า 5-6 พันล้านบาท ขึ้นกับขนาดของกำลังการผลิต


090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503

ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะแผนลงทุนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่จะนำร่องในพื้นที่อีอีซี เพื่อนำมาบริหารจัดการในการจัดหาและสั่งจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้บริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าให้มีราคาถูกกว่าพื้นที่อื่น ๆ จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3440 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2562

ติดตามฐาน