เร่งชง ครม. เคาะรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มี.ค. นี้

28 ม.ค. 2562 | 11:35 น.
ร.ฟ.ท. เร่งชง ครม. เคาะรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มี.ค. นี้ ล่าสุด ยังเจรจากับกลุ่มซีพีรอบใหม่ 1 ก.พ. 'วรวุฒิ' เผย กว่า 30 หัวข้อ จากรายละเอียด 200 หน้า ยังเดินหน้า ก่อนเสนอบอร์ดอีอีซีภายใน ก.พ. 62

4BD40684-1937-40D2-9D0C-A7E068F8B033
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ผลการเจรจากับกลุ่มซีพีในวันนี้ (28 ม.ค. 62) ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดได้ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากมีความสำคัญทุกหัวข้อและเกี่ยวพันกัน ผลการเจรจาเป็นไปด้วยดี โดยซีพีอธิบายว่า มีความเหมาะสมอย่างไรบ้างในการร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กัน ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องใดทั้งสิ้น เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสิ่งที่คณะกรรมการมีความคิดเห็นเท่านั้น

โดยก่อนถึงวันศุกร์ที่ 1 ก.พ. 2562 นี้ จะมีการประชุมภายในของคณะกรรมการก่อน ส่วนภาคบ่ายจะนัดหมายกลุ่มซีพีเข้ามาหารือต่อเนื่องอีก เพื่อให้กลุ่มซีพีเห็นว่า เรื่องที่คณะกรรมการหารือกันจะเป็นอย่างไรบ้าง หากเห็นด้วยก็จะมีการเจรจากันต่อไป ให้ได้ผลการสรุปที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ยังเห็นว่า มีเงื่อนไขที่จะต้องเจรจากันอีกหลายข้อจากเอกสารจำนวน 200 หน้า เบื้องต้น พบว่า มีราว 30-40 หัวข้อ ที่จะต้องเร่งเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อให้รอบคอบ เบื้องต้นนั้น ไม่ทันแน่ ที่เดิมกำหนดไว้ว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 31 ม.ค. นี้


2E49BC3D-6C62-43E6-BFF0-31CD8C1569BD

"การเจรจาคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือน ก.พ. นี้ หรืออาจเร็วกว่านั้น หากคิดเป็นเปอร์เซนต์ความคืบหน้า ยังเห็นว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น ภายใต้รายละเอียดทั้ง 200 หน้า โดยเน้นรายละเอียดที่น่าสนใจ เริ่มจากเรื่องยากไปหาง่าย การขยับระยะเวลาเจรจาต่อรองสามารถดำเนินการได้ เพื่อให้ข้อยุติที่ดีที่สุด รัฐได้ประโยชน์มากที่สุด เอกชนยอมรับได้ ขณะนี้การเจรจายังสรุปไม่ได้ แต่จะยังเจรจากันไปจนกว่าจะล้มโต๊ะ เบื้องต้นนั้น ยังยึดตามกรอบที่คณะกรรมการอีอีซีกำหนดไว้ แต่คงไม่เหมือนการเจรจาโครงการรถไฟไทย-จีน โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน มี.ค. 2562 นี้"

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้น เมื่อผลการเจรจาแล้วเสร็จ จะต้องระบุในสัญญาก่อนนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา จากนั้นนำเสนอคณะกรรมการอีอีซีและเสนอ ครม. เห็นชอบต่อไป โดยเป้าหมายที่กำหนดไว้จะให้การเจรจาแล้วเสร็จเดือน ก.พ. นี้ หากเจรจาสำเร็จจะเร่งส่งเรื่องให้ อสส. ต่อไป โดยจะเสนอเรื่องควบคู่กันไปได้

"กรณีการล้มโต๊ะหมายถึงการเจรจาไม่สำเร็จ เนื่องจากการเจรจามี 2 แบบ คือ สำเร็จและไม่สำเร็จ เมื่อเลิกก็มีขั้นตอนดำเนินการไว้ชัดเจน ขณะนี้ยังเจรจากันได้ เป็นเรื่องที่จะใช้เป็นเงื่อนไขในการนำไประบุไว้ในสัญญา บางเรื่องเกี่ยวพันไปถึงภาคผนวก ส่วนซองที่ 4 กรณี 11 ข้อ ไม่ได้นำมาเจรจากันแล้ว มันจบไปแล้ว แต่เน้นเจรจาเรื่องตัวร่างสัญญาจากรายละเอียดทั้ง 200 หน้า โดยมีจำนวน 30-40 หัวข้อ ยังเจรจาต่อเนื่องอีก"

ประการสำคัญ โครงการนี้จะต้องเร่งนำรายงานต่อคณะกรรมการอีอีซี ก่อนนำเสนอรายงานต่อ ครม. ต่อไป คาดว่าจะนำเสนอ ครม. ได้ภายในเดือน มี.ค. นี้ ตามที่คณะกรรมการอีอีซีกำหนดไว้ ส่วนวันที่ 1 ก.พ. นี้ จะเริ่มการเจรจาในรอบบ่ายเป็นต้นไป โดยจะยังเน้นเจรจาตามกรอบที่กำหนดไว้ หากเห็นว่าเจรจาแล้วยังไร้เหตุผลก็คงต้องเร่งสรุป

"อย่ามองข้ามไป ว่า นี่เป็นกรณีสัญญาร่วมลงทุน ประเทศไทยยังไม่มีการทำสัญญาแบบนี้มากนัก ยกตัวอย่าง การเจรจาสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ยังต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ไม่อยากเอาเรื่องข้อจำกัดด้านเวลามาเร่งรัดโครงการ โดยคณะกรรมการอีอีซีจะเป็นผู้ชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนเสนอ ครม. เห็นชอบ ส่วน ร.ฟ.ท. จะนำรายงานคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. กระทรวงคมนาคมตามขั้นตอนเท่านั้น"

สำหรับเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะนำเข้าพิจารณาในระดับคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภายในเดือน ก.พ. นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลที่จะเพิ่มเติมตามที่ คชก. ขอมายัง ร.ฟ.ท. ทั้งพื้นที่ตามแนวใช้ร่วมกับเส้นทางรถไฟสายสีแดงและพื้นที่อู่ตะเภา

บาร์ไลน์ฐาน