ม.หอการค้า ชี้! ผู้ค้าจตุจักรต้องการให้แบงก์ผ่อนเงื่อนไขสินเชื่อ

28 ม.ค. 2562 | 10:06 น.
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจสถานภาพผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักร พบต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงสินเชื่อ ลดเงื่อนไข ปรับดอกเบี้ย หวังให้ต้นทุนน้อยลง ด้าน ธพว. เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริม พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจภายใต้หัวข้อ "สถานภาพผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักร" ว่า ผู้ประกอบการการค้าในตลาดนักจตุจักรต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงด้านสินเชื่อ ลดขั้นตอนเงื่อนไขในการปล่อยกู้ ปรับลดดอกเบี้ย ระยะเวลาในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน (ตามลำดับ) โดยส่วนใหญ่ 41.51% อยากได้วงเงินสินเชื่อ 11-20% ของยอดขาย ส่วนเฉลี่ยคือ 27.41% ของยอดขาย


IMG_0754

ทั้งนี้ ที่สำคัญผู้ประกอบการมีทัศนคติว่า หากสามารถกู้เงินได้จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 36.54% โดย 47.38% เชื่อว่าหากได้สินเชื่อในระบบจะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่เพิ่มขึ้น สำหรับสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ แก้ปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูการท่องเที่ยว แก้ปัญหาความยากจน ลดหย่อนภาษี แก้ปัญหาความสงบของบ้านเมือง ลดต้นทุนสินค้า ช่วยให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จัก และหาแหล่งเงินทุนในการต่อยอด

ส่วนข้อเสนอและสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank นั้น คือ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขั้นตอนกู้ไม่ยุ่งยาก เพิ่มวงเงินกู้ ไม่มีค่าธรรมเนียม ป้องกันข้อมูลส่วนตัวลูกค้า การให้ข้อมูลสินเชื่อ และให้โอกาสกิจการเกิดใหม่

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ผู้ประกอบการในตลาดนัดจตุจักรมีความสำคัญมาก เพราะทั้งหมด คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและยังเป็นแหล่งค้าปลีกค้าส่งเชื่อมโยงไปสู่ผู้ประกอบรายจิ๋วอีกมากมายทั้งประเทศ ธนาคารจึงเตรียมร่วมมือกับ กทม. ในฐานะผู้บริหารตลาด ยกระดับตลาดนัดจตุจักร เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ช่วยทำการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ค้าภายในตลาดแห่งนี้สามารถจะค้าขายสร้างรายได้ตลอด 7 วันของสัปดาห์


IMG_0753

นอกจากนั้น ยังจะมีการเติมทักษะยกระดับความสามารถให้ผู้ค้าในตลาดขยายตลาดออนไลน์ ซึ่งกำลังเติบโตอย่างสูง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อบรมการค้าออนไลน์ หรือ e-Commerce ปักหมุดธุรกิจแจ้งเกิดบนโลกออนไลน์ พาจับคู่ธุรกิจกับผู้ให้บริหารตลาดออนไลน์ อย่าง Shopee นำไปเปิดตลาดต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง จีน และอินเดีย รวมถึงมีโครงการพัฒนาด้านดีไซน์และบรรจุภัณฑ์ให้โดนใจตลาด เป็นต้น ตามด้วยเติมทุนด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการนำไปยกระดับธุรกิจ เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) บุคคลธรรมดาปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน และสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0

บาร์ไลน์ฐาน