GIC ทิ้งหุ้นไทย! เทขาย 10 บจ. ขนเงินออกแสนล้าน

27 ม.ค. 2562 | 01:06 น.
เปิดไส้ใน GIC ลดพอร์ตการลงทุนหุ้นไทยเหลือมูลค่ารวมปี 2561 เพียง 6.72 หมื่นล้านบาท ใน 10 บริษัทใหญ่ LH, TU, PTT, CPALL, BH ฯลฯ ชนวนฟันด์โฟลว์ไหลออก แต่ยังเพิ่มนํ้าหนักลงทุนในหุ้นแบงก์ใหญ่ ทั้ง SCB, KBANK, BBL โบรกฯ มองเป็นการปรับพอร์ตโยกลงในตลาดจีน-EM คาดไหลเข้าไทยไตรมาส 2 นี้

ปี 2561 ที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติได้ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมากเป็นประวัติการณ์สูงถึง 287,459 ล้านบาท สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็มาจากการขายของ GIC (Government of SingaporeInvestment Corporation) หรือ กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ ร่วมแสนล้านบาท

จากการรวบรวมข้อมูลการถือหุ้นของ GIC ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า ถืออยู่ในหุ้นไทยรวม 19 บริษัท เป็นมูลค่า ณ ราคาหุ้นปิดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 รวม 67,234 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า GIC ได้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยถึง 10 บริษัท ได้แก่ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ล่าสุดถืออยู่ 8.0% ลดลงจากที่ถือถึง 8.2%, ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ล่าสุดถือ 1.1% ลดลงจากที่ถือ 0.6%, ปตท. (PTT) ล่าสุดถือ 0.8% ลดลงจากที่ถือ 0.1%, CPALL ล่าสุดถือ 1.1% ลดลงจากที่ถือ 0.1% ฯลฯ


MP17-3439-A

ขณะเดียวกัน GIC ได้ถือหุ้นเพิ่ม 7 บริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ล่าสุดถือสัดส่วน 1.2% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.6%, ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ล่าสุดถือ 0.9% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.4%, ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ล่าสุดถือ 1.7% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.1%, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ล่าสุดถือ 4% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 1.1%, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ล่าสุดถือ 0.7% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.1%, ไทยออยล์ (TOP) ล่าสุดถือ 0.7% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.1% และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ล่าสุดถือ 4.0% เพิ่มขึ้นจากที่ถือ 0.4%

ขณะที่ ยังคงสัดส่วนหุ้นที่ถือใน บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) 2.1% และพีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 0.7%

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า GIC Private Limited ได้ลดสัดส่วนหุ้น LH มากสุด โดยขายออกถึงจำนวน 977.82 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.12% เป็นมูลค่ารวม 11,949 ล้านบาท ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 10.90 บาท ซึ่งเป็นการขายออกอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยถือในปี 2558 สัดส่วน 16.55% ลงมาเหลือ 16.22% ในปี 2560 และในปี 2561 ขายออกในสัดส่วนถึง 8.2%

"การลงทุน GIC จะบริหารแบบ Passive Fund ที่เป็นการลงทุนตามดัชนี และสาเหตุที่ปีที่แล้ว GIC ขายหุ้นไทยออกไปมาก จนเป็นเหตุให้ฟันด์โฟลว์ไหลออก ก็เพื่อไปเพิ่มนํ้าหนักลงทุนในตลาดหุ้นจีนตามการแมเนจของกองทุนที่ต้องการไปลงในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market : EM) จริง ๆ ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยอาจจะพ้นจากการเป็น EM ไปแล้ว ประกอบกับ 2 ปีที่ผ่านมา MSCI ได้เพิ่มนํ้าหนักการลงทุนหุ้นจีน A-Share ในดัชนี MSCI EM Index จึงเป็นไฟต์บังคับที่กองทุนนี้ต้องโยกการลงไปตลาดจีนและ EM ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน หรือ เศรษฐกิจไทยไม่ดี" แหล่งข่าวกล่าว

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ทุนต่างประเทศคาดจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 หลังกำหนดวันเลือกตั้งแล้วเป็นวันที่ 24 มี.ค. 2562 ประกอบกับการที่เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลดีฟันด์โฟลว์จะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย โดยคาดดัชนีหุ้นไทยไตรมาสแรกจะปรับขึ้นแตะระดับ 1700-1750 จุดได้

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ปี 2562 จะเป็นปีที่มีเงินทุนต่างประเทศ (Fund Flow) ไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย หลังจากที่กำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนขึ้น โดยทั้งปีเงินทุนต่างชาติน่าจะไหลกลับมาประมาณครึ่งหนึ่งของปี 2561 ที่ไหลออกไป เพราะปัจจุบัน สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถืออยู่ในหุ้นไทยเพียง 29% เกือบตํ่าสุดในรอบ 14 ปี ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1-24 ม.ค. 2562 ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิแล้ว 4,212 ล้านบาท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,439 วันที่ 27-30 มกราคม 2562

595959859