'บริดจสโตน' รุกยางเครื่องบิน! 'มิชลิน' เจาะมอเตอร์ไซค์-เพิ่มไลน์ผลิต BF

29 ม.ค. 2562 | 01:54 น.
2 ค่ายยางล้อยักษ์ใหญ่ ประกาศลงทุนขยายฐานการผลิตในไทย 'บริดจสโตน' ยาหอมเกษตรกรด้วยการสั่งเพิ่มจำนวนนํ้ายางพารา 1.2 แสนตัน และเตรียมผลิตยางล้อเครื่องบินปี 2563 ส่วน 'มิชลิน' ขยายฐานผลิต "บีเอฟ กู๊ดริช" จากอเมริกามาไทย และตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าโออีเอ็ม ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์

สำรวจความเคลื่อนไหวในตลาดยางรถยนต์ไทย หลังจากปลายปีที่ผ่านมามีอานิสงส์จากมาตรการรัฐในโครงการช็อปช่วยชาติ อย่างไรก็ดี จากการสอบถามเหล่าผู้ผลิตแบรนด์ยักษ์ใหญ่หลายเจ้า ส่วนมากไม่ได้เข้าเงื่อนไขตามที่รัฐระบุมา ซึ่งแม้จะไม่เข้าข่าย แต่เมื่อดูจากการตอบรับหรือความคึกคักของตลาดโดยรวม ถือว่าดีขึ้นพอสมควร

"มาตรการรัฐที่ออกมาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าล่าช้าไปสักนิด โดยลูกค้าเข้ามาสอบถามร้านค้าเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับ และส่งผลทำให้ยอดขายในช่วงนั้นก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในส่วนของผู้ผลิตยางแบรนด์ใหญ่ ๆ ตรงนี้ไม่มีใครเข้าเงื่อนไขเลย เพราะมีการสั่งนํ้ายางมาจากหน่วยงานกลาง ไม่ใช่จากการยางแห่งประเทศไทย และมีการสั่งล่วงหน้าหลายเดือน" แหล่งข่าวตัวแทนจำหน่ายยางรายใหญ่ กล่าว

ด้าน ค่ายยางล้อรายใหญ่อย่าง 'บริดจสโตน' โดย นายฮิเดยูกิ ทาเคดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด กล่าวว่า บริษัทไม่ได้เข้าร่วมโครงการช็อปช่วยชาติ เพราะไม่เข้าร่วมเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเดินหน้ารุกตลาดในประเทศไทยต่อเนื่อง โดยตามแผนงานที่วางไว้ในปีนี้จะเพิ่มการสนับสนุนยางพาราจากเกษตรกรไทย 1.2 แสนตันต่อปี เพิ่มจากปีที่ผ่านมา ที่สั่ง 1.16 แสนตัน และเดินเครื่องการผลิต 4.7 หมื่นเส้นต่อวัน


MP28-3439-AA

ขณะเดียวกัน ในปี 2563 จะเริ่มเดินเครื่องผลิตยางล้อเครื่องบิน ที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ 2 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 6,188.6 ล้านบาท กำลังการผลิตยางล้ออากาศยานรวมปีละประมาณ 1.09 แสนเส้น

"ปีนี้เราจะฉลองครบรอบ 50 ปี และตามแผนงานที่วางไว้จะมีการเปิดตัวยางรุ่นใหม่ ๆ ทั้งรถเก๋งและรถบรรทุก พร้อมพัฒนาช่องทางการจำหน่ายที่มีมากกว่า 1,500 แห่ง ทั้งร้านยางทั่วไปกว่า 1,000 แห่ง และร้านยางฟาสต์ฟิตที่อยู่ในเครือ อย่าง 'ค็อกพิท' ที่มี 203 แห่ง, 'ออโตบอย' 76 แห่ง, 'แอค' (A.C.T) 76 แห่ง, 'ทรัค เซ็นเตอร์' 48 แห่ง และ 'ฟลีต พอยท์' กว่า 100 แห่ง"

โดยเป้าหมายในปี 2562 จะเพิ่มจำนวนอีก 20-30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งบริดจสโตนตั้งเป้าหมายการเติบโตด้านรายได้ในปี 2562 ไว้ที่ 5.4% และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด 40% จากเดิมในปีที่ผ่านมาทำได้ 38.5% ขณะที่ สัดส่วนการผลิตทั้งหมด แบ่งออกเป็น ป้อนตลาดในประเทศ 50% และส่งออก 50% ถือเป็นแผนงานของพี่ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัย ที่แม้จะไม่มียางที่เข้าร่วมเงื่อนไขของรัฐ แต่ก็ไม่หวั่นและยังเดินหน้าบุกในส่วนอื่นเพิ่มเติม

ขณะที่ อีกหนึ่งเจ้าที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขของรัฐบาลเช่นเดียวกัน อย่าง 'มิชลิน' ปีนี้ประกาศความเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี ด้วยการยกทัพ "บีเอฟ กู๊ดริช" จากสหรัฐอเมริกา มาตั้งฐานผลิตในประเทศไทย โดยจะผลิตยางแบบออล เทอร์เรน ที/เอ เคโอ 2 ซึ่งจะเริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 ณ โรงงานแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

"โรงงานแหลมฉบังจะมีบทบาทสำคัญในการผลิตยาง "บีเอฟ กู๊ดริช" เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปยังตลาดใกล้เคียง ทั้งทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมถึงเอเชียและโอเชียเนีย โดยยังรองรับการผลิตยางอะไหล่แท้ป้อนโรงงานผลิตรถยนต์ชั้นนำ อาทิ ฟอร์ด, จีเอ็ม, อีซูซุ, มาสด้า และโตโยต้า ทั่วเอเชีย" นายเอกชัย คหการบำรุง ผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจ B2C บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ผู้ดูแลการจัดจำหน่ายยาง "บีเอฟกู๊ดริช" กล่าวและว่า

ส่วนแผนการตลาดอื่น ๆ จะเน้นสร้างแบรนด์ มีการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเข้าหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ นอกจากนั้นแล้วจะเพิ่มเครือข่ายทั้งไทร์พลัสและไทร์พลัสเอ็กซ์เพรสที่มีความหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันมิชลินจะเจาะเข้าหากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ (โออีเอ็ม) เนื่องจากอดีตที่ผ่านมาสัดส่วนตรงนี้ลดลง โดยในปีนี้มิชลินจะส่งโออีเอ็มให้กับโตโยต้า ในรุ่น "โคโรลล่า อัลติส ใหม่"




090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

มิชลินยังให้ความสำคัญกับตลาดรถจักรยานยนต์ ล่าสุด เพิ่งเปิดตัว "มิชลิน โรด 5" เจาะกลุ่มสปอร์ตทัวริ่ง มาพร้อมเทคโนโลยี MICHELIN XST Evo และโครงสร้างยาง ACT+ (Adaptive Casing Technology) เคาะราคา 1.2-1.4 หมื่นบาท ปัจจุบัน มิชลินมียางรถจักรยานยนต์ทั้งรถเล็กและรถบิ๊กไบค์มากกว่า 341 ไซซ์ และมิชลินยังมีแผนจะเปิดยางรถจักรยานยนต์อีกหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น ยางกลุ่มบิ๊กไบค์, ยางรถเล็ก และอีก 2 รุ่น ซึ่งทุกรุ่นผลิตจากโรงงานประเทศไทย

"ตลาดยาง 2 ล้อในไทยไม่เติบโตเท่าไร ถือว่าทรง ๆ ตัว โดยมีความต้องการประมาณ 40 ล้านเส้นในปีที่ผ่านมา ส่วนปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 44 ล้านเส้น ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการมีโรงงานบิ๊กไบค์เข้ามาในไทยมากขึ้น อาทิ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ทำให้ราคาจำหน่ายถูกลง และบิ๊กไบค์ในไทยก็จะเพิ่มจำนวน เช่นเดียวกับยางรถในกลุ่มนี้ก็จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นแน่นอน" นายรอสส์ ชีลส์ ผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ประจำภูมิภาคเอเชียของมิชลิน กล่าวและว่า

เพื่อเป็นการรองรับการเติบโต ทำให้แผนงานในปีนี้จะมีทั้งสินค้าใหม่ การจัดอีเวนต์ต่าง ๆ งานแทรคเดย์ งานโมโตจีพี ที่เป็นผู้สนับสนุนในระดับโกลบัล รวมไปถึงการแต่งตั้งดิสตริบิวเตอร์เพื่อกระจายสินค้าของเรา ล่าสุด ตั้ง "เอกไพบูลย์ยางยนต์" เป็นผู้จัดจำหน่ายยางสำหรับรถบิ๊กไบค์ และเตรียมกระจายไปยังเครือข่ายดีลเลอร์ที่มีกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ที่สำคัญปีนี้เราได้ลูกค้าในกลุ่มโออีเอ็ม หรือ ผู้ผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เรามี บีเอ็ม ดับเบิลยู, ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน, เคทีเอ็ม ล่าสุด คือ ฮอนด้า ซีบี 500 และพีซีเอ็กซ์150

โดยมิชลินตั้งเป้าหมายการเติบโตของยางรถจักรยานยนต์ในส่วนโออีเอ็มภายใน 3-5 ปี จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 20%

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,439 วันที่  27 - 30 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว