อสังหาฯกระทุ้ง ‘บ้านบีโอไอ’ จะเปรี้ยงต้อง1.5ล้าน

26 ม.ค. 2562 | 10:32 น.
 

 

หลังประสบความสำเร็จจากโครงการบ้านล้านหลัง ประชาชนผู้มีรายได้น้อยแห่จองสิทธิ์สินเชื่อพิเศษกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ทั่วประเทศมากถึง 1.3 แสนล้านบาท สะท้อนว่ายังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากอยากได้บ้านแต่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ

ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ฟื้นโครงการส่งเสริมการลงทุนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือ บ้านบีโอไอ ที่เคยดำเนินการเมื่อปี 2535 และถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2557 ให้ออกมาเสริมโครงการบ้านล้านหลัง โดยปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขจากอดีตให้สอดรับกับปัจจุบัน เพื่อจูงใจภาคเอกชนด้านการลดหย่อนภาษี เนื่องจากต้นทุนที่ดิน วัสดุก่อสร้าง และค่าแรงเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะการขยายการลงทุนรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมายืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ได้ศึกษา เงื่อนไขโครงการบ้านบีโอไอใหม่แต่อย่างใด

ขณะน.พ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปฯ หนึ่งในผู้ เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระบุว่า ต้นทุนที่ดินเป็นตัวแปรสำคัญหากไม่มีแลนด์แบงก์ราคาถูกสะสมในมือ ก็ยากที่จะพัฒนาได้ แม้จะได้สิทธิ์ลดหย่อนทางภาษี ก็ตามและโดยส่วนตัวแล้วไม่สนใจเข้าร่วม MP25-3439-A

อย่างไรก็ตามแม้เขาจะเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเอง แต่ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ระบุว่า ปัจจุบันต้นทุนที่ดินแพง ทำให้การพัฒนาบ้านราคาถูกเหมือนในอดีตถูกจำกัดลง แต่หากเทียบกับความสำเร็จของโครงการบ้านล้านหลัง ครั้งนี้ของบริษัทเกิดจากจังหวะการได้ซื้อหนี้ถูกจากโครงการร้างจึงกลายเป็นช่องทางลัด จับกลุ่มลูกค้าตลาดล่างได้ เช่น โครงการอยู่รวยคอนโด ตั้งอยู่ในทำเลย่านชุมชนใหญ่เขตกรุงเทพมหานคร และอนาคตกำลังจะมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น

สำหรับผู้ผ่านประสบการณ์ ทำบ้านบีโอไอ และเคยเป็นเจ้าตลาด บ้านราคาถูก นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท สะท้อนว่า หากต้องการให้เอกชนเข้าร่วมโครงการบ้านบีโอไอรัฐต้องปรับหลักเกณฑ์ จูงใจ ทั้งเพดานราคาขายต่อหน่วยในกรุงเทพฯ ต้อง อยู่ที่ 1.5 ล้านบาท ขณะเดียวกันสถาบันการเงินต้องผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตามข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าร่วมโครงการบ้านบีโอไอได้ เพราะราคาขายต่อหน่วยเป็นไปตาม ต้นทุนของที่ดิน

นายพิริยะ ธานีรณานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านสวยกรุ๊ป (สุราษฎร์ธานี) จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ ตอนบน ระบุว่า สนับสนุนนโยบายรัฐบาล กรณีบ้านบีโอไอแต่ต้องการเสนอปรับเงื่อนไขราคา ของต่างจังหวัดจาก 6 แสน บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นแนวสูงและทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว เป็น 1 ล้านบาท ต่อหน่วย เท่ากับกรุงเทพฯ ทั้งนี้ที่ผ่านมา ต่างจังหวัดไม่สามารถได้รับการส่งเสริมบีโอไอ เพราะ ติดปัญหาด้านราคาซึ่งเป็นต้นทุนที่ดิน

สอดคล้องกับ นายชาญณรงค์ บุริศตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสาน พิมานกรุ๊ปฯ บริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า บริษัทสนใจ บ้านบีโอไอ นอกจากโครงการบ้านล้านหลังที่เข้าร่วม แต่ทั้งนี้ ขอเสนอรัฐบาล ปรับราคาบ้านบีโอไอจาก 6 แสนบาท 31 ตร.ม. สำหรับคอนโดมิเนียมเป็น 1 ล้านบาท เท่ากรุงเทพฯ ทั้งนี้ ปัจจุบันทุกจังหวัด เริ่มมีความเป็นเมืองความเจริญเข้ามา มีคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีเงินออมต้องการที่อยู่อาศัยราคาถูกอีกมาก

ด้านนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด ยํ้าว่า ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ชอบที่อยู่อาศัยที่มีพื้นดิน เช่น ทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว ส่วนคอนโดมิเนียม ห้องเล็กแคบเกินไป จึงไม่เป็นที่นิยมแม้ราคาจะถูกกว่าก็ตาม

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,439 วันที่ 27-30 มกราคม 2562 595959859