บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ (14 – 18 มี.ค. 59)

15 มี.ค. 2559 | 02:18 น.
ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน จับตาการประชุมเฟด 15-16 มี.ค. นี้  คาดเฟดยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ (14 – 18 มี.ค. 59) โดย บมจ. ไทยออยล์:

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 33 – 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 35 – 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 – 18 มี.ค. 59)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลการหารือระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบในและนอกกลุ่มโอเปกที่จะคงระดับกำลังการผลิตให้เท่ากับเดือน ม.ค. 59 ซึ่งต้องติดตามการประชุมนัดพิเศษที่คาดว่าจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 มี.ค.และ 1 เม.ย.นี้ นอกจากนี้ ตลาดมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักทางตอนเหนือที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ติดตามการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ซึ่งคลายความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ ที่แข็งค่าที่อาจกดดันราคาน้ำมันดิบ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

ติดตามการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 15-16 มี.ค. นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25 - 0.50% โดย Fed ยังคงกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ Fed อาจพิจารณาปรับแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปี 2559 และอาจจะไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 4 ครั้งในปี 2559 ตามที่เคยส่งสัญญาณในการประชุมเดือน ธ.ค. 58 นอกจากนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ 2 ครั้งภายในปี 2559 รวมถึง Reuters Poll ที่ล่าสุดเปิดเผยการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 0.5% ภายในสิ้นปีนี้

ติดตามการประชุมนัดพิเศษระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบในและนอกกลุ่มโอเปกที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 มี.ค.และ 1 เม.ย.นี้ เพื่อหามาตรการในรักษาเสถียรภาพราคาของราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ รมว.ต่างประเทศของเวเนซุเอลา เปิดเผยว่า เวเนซุเอลาจะจัดประชุมเพิ่มเติมกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบในภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งประกอบด้วย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเม็กซิโก ก่อนการประชุมนัดใหญ่ดังกล่าว ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของคูเวต ซึ่งผลิตน้ำมันดิบประมาณ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน กล่าวว่าคูเวตจะเข้าร่วมข้อตกลงการคงระดับการผลิตน้ำมันดิบ ถ้าหากประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายสำคัญ รวมไปถึงประเทศอิหร่านยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งท่าทีของคูเวตสร้างความกังวลต่อตลาดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพยุงราคาน้ำมันดิบ

จับตาปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักทางตอนเหนือคาดจะกลับมาเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ หลังตุรกีเพิ่มกำลังทางทหารเพื่อรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม ส่งผลให้การซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันดิบที่มีกำลังการขนส่งน้ำมันดิบกว่า 600,000 บาร์เรลต่อวันอาจจะเปิดใช้งานได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยก่อนหน้านี้ ผลของการโจมตีได้ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักทางตอนเหนือในเดือน ก.พ. ปรับลดลงกว่าครึ่งมาอยู่ที่ระดับ 350,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Baker Hughes เปิดเผยจำนวนแท่นขุดเจาะปรับลดลงอีก 8 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 11 ติดต่อกัน สู่ระดับ 392 แท่น (ณ วันที่ 4 มี.ค.) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 52 นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ในเดือน เม.ย. จะปรับลดลง 1.60 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ระดับการผลิตจะอยู่ที่ระดับ 4.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการลดกำลังการผลิตเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตของยูโรโซน  ดัชนีราคาผู้ผลิต จำนวนที่อยู่อาศัยที่กำลังก่อสร้าง ดัชนีราคาผู้บริโภค ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 – 11 มี.ค. 59)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 38.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.67 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 40.39 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 36 เหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับแรงหนุนหลังตลาดคาดว่าการประชุมระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในเร็วนี้ มีโอกาสที่จะสามารถตกลงกันเพื่อหามาตรการในรักษาเสถียรภาพราคาได้ หลังล่าสุดผู้ผลิตน้ำมันในแถบลาตินอเมริกา ได้แก่ เวเนซุเอลา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และ เม็กซิโก จะมีการจัดประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 4 มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 522 ล้านบาร์เรล