"ธุรกิจสุขภาพ" โรงพยาบาลในทศวรรษใหม่ "App" ตัวช่วยเชื่อมต่อผู้ป่วย-แพทย์

01 ก.พ. 2562 | 09:49 น.
ปัญหาด้านสุขภาพเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายนอก เช่น ฝุ่น อากาศ สภาพแวดล้อม ฯลฯ และปัจจัยภายใน เช่น การกิน การอยู่ การใช้ชีวิต ฯลฯ แม้รับรู้ถึงต้นตอของปัญหา แต่กลับหาทางออกไม่ได้ แต่หลายคนก็เลือกที่จะป้องกันด้วยการดูแล ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ Healthcare & Wellness หรือ ธุรกิจสุขภาพและโรงพยาบาลเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด ได้จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ "การดำเนินธุรกิจสุขภาพและโรงพยาบาลในทศวรรษใหม่"

404599
➣ 60% ร้องผ่านสื่อออนไลน์

นายกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2560-2561 ผู้ใช้บริการจากโรงพยาบาลหันไปพึ่งโลกออนไลน์เยอะขึ้น จากโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการร้องทุกข์ การร้องเรียน จาก 16% เพิ่มเป็น 22% และจากการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น อาจส่งผลให้บางโรงพยาบาลเข้าข่ายเสียชื่อเสียงได้

"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการพูดถึงประเด็นของโรงพยาบาลยังคงเกี่ยวกับภาคการบริการของโรงพยาบาล ที่ครองสัดส่วนการพูดถึงมากที่สุด 60% ของประเด็นทั้งหมด รองลงมาเป็นการพัฒนา ค่าใช้จ่าย โฆษณาเกินจริง เป็นต้น"


➣ แพทย์ทางเลือกเติบโตดี

ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้บริโภคเริ่มเน้นการป้องกันมากกว่าการป่วยแล้วค่อยวิ่งไปหาหมอ ซึ่งแพทย์ทางเลือกเป็นที่น่าสนใจในปัจจุบัน เช่น การดีท็อกซ์ ควบคุมอาหาร ฝังเข็ม ชี่กง ดนตรีบำบัด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ที่กำลังโตและน่าจับตามอง

"การควบคุมอาหารเพื่อสุขภาพ มีอัตราการพูดถึงบนสังคมออนไลน์เติบโตมากถึง 128% จากปี 2560 เป็นผลมาจากเทรนด์การจัดเวลาการกินอาหาร ขณะที่ ปัญหาความเมื่อยล้า หรือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปัญหา Office Syndrome ได้วิธีการรักษาประเภทหัตถการมาช่วยและมีอัตราเติบโตสูงขึ้น ได้แก่ การฝังเข็ม การครอบแก้ว และการใช้ดนตรีบำบัด เป็นต้น"


84457

➣ ป่วย "แอพ" ช่วยได้

นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด เปิดเผยว่า อนาคตทุกอย่างจะอยู่ในมือถือหมดเรื่องเฮลธ์แคร์จะอยู่ใกล้ตัวและอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับบางประเทศ เช่น ผิงอัน, ฮาโลดอก (ประเทศอินโดนีเซีย) ที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีกับหมอผ่านระบบออนไลน์แล้ว

"ปัจจุบัน บางประเทศเชื่อมโยงโลกออนไลน์และธุรกิจโรงพยาบาลไว้ด้วยกันแล้ว ยกตัวอย่างเช่น หากคนไข้เกิดเจ็บป่วยในเวลาตอนเที่ยงคืน ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล แต่สามารถปรึกษาปัญหาเบื้องต้นกับแพทย์ที่ดูแลได้ผ่านแอพพลิเคชัน หลังจากแพทย์วินิจฉัยโรคเบื้องต้นแล้ว ก็สามารถชำระเงินผ่านทางออนไลน์ และรอรับยาที่บ้าน 30 นาที ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศข้างต้นจะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการบริการรับยา ร.พ.เอกชน อย่ามองข้ามสิ่งอำนวยความสะดวก"

ดร.น.พ.ตุลวรรธน์ พัชราภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ในวันนี้สิ่งที่โรงพยาบาลเอกชนต้องปรับตัว คือ การนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบเรียลไทม์ หรือ Telemedicine มาใช้ เพื่อช่วยลดจำนวนคนไข้ที่มาโรงพยาบาล ขณะเดียวกันควรเพิ่มเรื่องของ Value for Money ได้แก่ สถานที่สะดวกสบาย มีที่จอดรถ สะอาด เพลงต้องเพราะ และต้องมีร้านกาแฟ อื่น ๆ


090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

"วันนี้เราไม่ควรมองข้ามเรื่องของ Value for Money เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการในโรงพยาบาลต้องมีกิริยามารยาทที่ดี รายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ต้องโปร่งใส รวมถึงสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ คือ การมีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาย่อยต่าง ๆ อาทิ กลุ่ม Aging โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคทางสมอง โรคกระดูก เป็นต้น พร้อมทั้งต้องมุ่งสร้างพยาบาลให้เป็นผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น"

หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3439 ระหว่างวันที่ 27 - 30 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว