Plan B ของรัฐบาลอังกฤษ หลังแพ้โหวตข้อตกลง Brexit

26 ม.ค. 2562 | 04:30 น.
หลังจากข้อเสนอของนายกฯ  เทเรซา เมย์ ที่เสนอต่อสภาฯ เกี่ยวกับข้อตกลงระหว่าง UK กับ EU ที่จะใช้เมื่อแยกตัวจากสหภาพยุโรปได้แพ้อย่างถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 100 ปีของประวัติศาสตร์อังกฤษ ตามกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลต้องเสนอแผนสำรองที่เรียกว่า “Plan B” ต่อสภา ภายในระยะเวลา 3 วัน แต่เนื่องจากติดช่วงสุดสัปดาห์ รัฐบาลจึงได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา

S__32153611

บทความนี้จึงมุ่งที่จะนำเสนอสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษได้แถลงต่อสภารวมถึงปัญหาที่ผู้นำฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนว่าในระหว่างวิกฤติของประเทศเกมการเมืองในสภาอังกฤษก็ยังมีความร้อนแรงอยู่ไม่น้อย เพื่อที่จะนำเสนอประเด็นดังกล่าว

บทความนี้ผู้เขียนจึงเลือกที่จะสัมภาษณ์คนอังกฤษที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของทั้งพรรคอนุรักษนิยม (ฝ่ายรัฐบาล) และสมาชิกของพรรคแรงงาน (ฝ่ายค้าน) ที่เป็นผู้เล่นหลักในเกมการเมืองครั้งนี้ เพื่อที่จะได้ฟังเสียงสะท้อนจากมุมมองที่เป็นกลางมากที่สุด โดยผู้ให้สัมภาษณ์ครั้งนี้คือ Dr.Valerie Ainscough ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats)

[caption id="attachment_379400" align="aligncenter" width="503"] Dr.Valerie Ainscough Dr.Valerie Ainscough[/caption]

การแถลงในสภา ของนายกฯเมย์ เป็นไปตามความคาดหมายและเหมือนกับสิ่งที่ได้เสนอไว้ในบทความฉบับที่ผ่านมาว่า รัฐบาลอังกฤษจะขอเปิดเวทีเจรจากับชาติสมาชิกของ EU เพื่อขอขยายระยะเวลาในการแยกตัวออกไปเป็นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 นายกฯเมย์ ได้กล่าวต่อไปว่าหากสภา ไม่ต้องการที่จะให้ประเทศเผชิญหน้ากับปัญหาการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง (with no deal) สิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนี้มี 2 ทางเลือกหลัก

ประการแรก คือ การยกเลิกการถอนตัว (Revoke) จากการเป็นสมาชิกของ EU ซึ่งนายกฯเมย์มองว่าการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการทรยศต่อเจตจำนงของประชาชนที่ได้มาลงประชามติไว้เมื่อปี 2016

ทางเลือกที่ 2 คือ การเจรจาเพื่อขยายเวลาการแยกตัว ซึ่งถ้าหากทำได้สำเร็จก็จะทำให้รัฐบาล UK มีเวลาในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่กับ EU ได้นานขึ้น ประเด็นนี้มีทั้งความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ กรณีที่มีความเป็นไปได้คือเรื่องของการขอขยายระยะเวลา เนื่องจากจริงๆ แล้ว การแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลงเลย ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของ EU มหาศาลเช่นกัน

ดังนั้นการที่ประเทศสมาชิกอีก 27 ประเทศจะมีมติเป็นเอกฉันท์เพื่อขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไปตามที่ UK จะร้องขอจึงมีความเป็นไปได้อยู่มาก แต่การที่จะหวังว่าหลังจากที่ได้ขยายระยะเวลาแล้วจะได้เจรจาเพื่อต่อรองให้ UK ได้ข้อตกลงที่ดีขึ้น คงจะเป็นเรื่องยากมากเช่นกัน เพราะผู้นำประเทศสมาชิกของ EU ได้แถลงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการเจรจาอะไรเพิ่มเติมกับรัฐบาลของ UK ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการแยกตัวอีก

หลังจากความพ่ายแพ้ของรัฐบาล นายกฯเมย์ ได้แถลงต่อสภา โดยรับปากที่จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอต่างๆ ของสมาชิกสภา รวมถึงประชาชนทุกภาคส่วนให้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามนายกฯเมย์ ก็ได้มีการกล่าวถึงกรณีที่ผู้นำฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมการเจรจาเพื่อหาทางออกของประเทศ ประเด็นนี้ Dr. Valerie ให้ข้อสังเกตว่า การที่ เจเรมี โคบิน ผู้นำฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว น่าจะมาจากการที่หลังจากการที่รัฐบาลพ่ายแพ้ผลโหวตในข้อเสนออย่างถล่มทลาย

โคบิน ได้มีการขอให้มีการลงมติเกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ แต่ปรากฏผลว่าความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกฯเมย์ ยังมีเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกในสภา ทำให้รัฐบาลยังสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ จุดนี้น่าจะทำให้โคบินตัดสินใจไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่เขาคิดว่าล้มเหลวในการดำเนินการเรื่อง Brexit แล้ว

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจที่ Dr. Valerie ตั้งขึ้นคือ ปัญหาของประเทศที่รัฐบาลและสภา กำลังเผชิญอยู่ในครั้งนี้ มีความแตกต่างไปจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะแต่เดิมความเห็นต่างที่ใช้ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายของประเทศจะแบ่งแยกออกเป็น 2 ทางชัดเจน แต่จากที่ปรากฏในกรณีผลโหวตเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาล กลายเป็นว่าทั้งฝ่ายที่ไม่ต้องการแยกประเทศจาก EU (Remainers) และฝ่ายที่ต้องการแยกตัว (Brexiteers) ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม ร่วมกันโหวตควํ่าข้อเสนอของรัฐบาลลงอย่างไม่เป็นท่า ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แสดงให้เห็นว่าปัญหาของประเทศในครั้งนี้มีความสลับซับซ้อนมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา

ในแถลงการณ์ของนายกฯเมย์ ที่กล่าวว่ารัฐบาลจะรับฟังทุกข้อเสนอ แต่การแสดงท่าทีต่อการเสนอทางเลือกโดยเรียกร้องให้มีการลงประชามติรอบ 2 ดูจะเป็นเรื่องที่นายกฯเมย์ ยํ้าชัดว่าทางเลือกนี้น่าจะนำไปสู่ปัญหาความแตกแยกในประเทศมากกว่า ประเด็นนี้ Dr. Valerie ได้กล่าวว่า โดยส่วนตัวของเธอแล้ว การนำอำนาจการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งนี้กลับคืนสู่ประชาชน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศในภาวะนี้

แต่เธอได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการที่นายกฯเมย์ มีความคิดเช่นนั้น น่าจะมาจากความวิตกกังวลว่าหากมติในครั้งที่ 2 แตกต่างจากครั้งแรก ประชาชนฝั่งที่ชนะผลการลงประชามติครั้งที่ 1 อาจเกิดความไม่พอใจ และนำไปสู่การก่อความไม่สงบและอาจบานปลายไปเป็นสงครามกลางเมืองได้ เหมือนกรณีความวุ่นวายที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเมื่อไม่นานมานี้

ก่อนที่จะจบการแถลงต่อสภา นายกฯเมย์ยืนยันว่า ในวันอังคารที่ 29 มกราคม หลังจากที่รัฐบาลได้มีการพูดคุยกับสมาชิกของพรรคต่างๆ ในสภา แล้วจะได้นำเสนอความคืบหน้ารวมถึงนโยบายที่รัฐบาลจะใช้ดำเนินการต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องหนึ่งที่ต้องรีบดำเนินการคงไม่พ้นเรื่องของการเจรจาเพื่อขอขยายระยะเวลา เราคงต้องรอดูกันว่า การพูดคุยในช่วงก่อนที่จะมีการนำเสนอต่อสภา ในสัปดาห์หน้า ผู้นำฝ่ายค้านจะเข้าร่วมเจรจาเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วยหรือไม่

เพราะในการตัดสินใจไม่เข้าร่วมครั้งนี้ก็มีการโจมตีจากหลายฝ่ายว่า ในระหว่างที่ประเทศกำลังที่จะต้องฝ่าวิกฤติสำคัญครั้งนี้ เกมการเมืองที่จะส่งผลให้แพ้หรือชนะการเลือกตั้งในครั้งหน้านั้นควรเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นลำดับรองจากการร่วมมือร่วมใจเพื่อนำพาประเทศให้ผ่านพ้นมรสุมครั้งใหญ่นี้ไปให้ได้

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3439 ระหว่างวันที่ 27 - 30 มกราคม 2562

595959859