'หัวเว่ย' เปิดชิปเซ็ต 5G นวัตกรรมเพื่อการสื่อสารไร้สายเร็วสุดในโลก

25 ม.ค. 2562 | 05:41 น.
'หัวเว่ย' เปิดตัวชิปเซ็ต Balong 5000 ชิปเซ็ต 5G แบบมัลติโหมด พร้อมกับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ 5G CPE Pro อันเป็นอุปกรณ์เชิงพาณิชย์ ซึ่งรองรับการรับส่งข้อมูลแบบ 5G ชิ้นแรกที่ทำงานโดยใช้ชิปเซ็ตรุ่นดังกล่าว นวัตกรรมใหม่ทั้ง 2 รายการนี้ ช่วยมอบการเชื่อมต่อการสื่อสารแบบไร้สายได้อย่างรวดเร็วที่สุดสำหรับสมาร์ทโฟน บ้าน ที่ทำงาน หรือขณะเดินทาง

นายริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป เปิดเผยว่า ชิปเซ็ต Balong 5000 เป็นชิปเซ็ตที่จะเปิดศักราชใหม่สู่ยุค 5G เนื่องจากชิปเซ็ตนี้สามารถรองรับอุปกรณ์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน อุปกรณ์รับส่งสัญญาณบรอดแบนด์ภายในบ้าน อุปกรณ์ภายในรถยนต์ และโมดูล 5G ประเภทต่าง ๆ ผู้บริโภคจึงสามารถสัมผัสประสบการณ์ของการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วในระดับ 5G ได้ทุกที่

สำหรับชิปเซ็ต 5G มัลติโหมดรุ่นแรกของโลก ชิปเซ็ต Balong 5000 คือ ชิปเซ็ตตระกูล Balong ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยชิปเซ็ตรุ่นล่าสุดนี้มีขนาดเล็ก แต่ผสานนวัตกรรมที่หลากหลายไว้ภายใน ชิปเซ็ตนี้รองรับการสื่อสารแบบ 2G 3G 4G และ 5G ในตัว จึงสามารถลดทั้งความหน่วงของการรับส่งข้อมูลและพลังงานที่ใช้ขณะรับส่งข้อมูลที่โหมดการทำงานต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ในช่วงเวลาที่การสื่อสารแบบ 5G เริ่มใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน

 

[caption id="attachment_379413" align="aligncenter" width="503"] The Huawei 5G CPE Pro achieves a high speed of 3.2 Gbps in live network tests ริชาร์ด หยู[/caption]

ชิปเซ็ต Balong 5000 เป็นชิปเซ็ตรุ่นแรกที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ด้านอัตราการดาวน์โหลดที่ย่านความเร็วระดับ 5G ให้กับอุตสาหกรรมการสื่อสาร โดยชิปเซ็ตนี้รองรับความเร็วการดาวน์โหลดได้ถึง 4.6 กิกะบิตต่อวินาที เมื่อใช้งานที่ย่านความถี่กลุ่ม Sub-6 GHz หรือ คลื่นความถี่ต่ำ ที่กำหนดให้เป็นคลื่นความถี่หลักสำหรับการสื่อสารแบบ 5G และชิปเซ็ตนี้ยังรองรับความเร็วการดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ 6.5 กิกะบิตต่อวินาที เมื่อใช้งานที่ย่านความถี่กลุ่มมิลลิเมตเตอร์เวฟ (mmWave) หรือ คลื่นความถี่สูง ที่กำหนดให้เป็นคลื่นความถี่เพิ่มเติมสำหรับการสื่อสารแบบ 5G ซึ่งความเร็วในการดาวน์โหลดดังกล่าวเร็วกว่าชิปเซ็ต 4G LTE รุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ใช้ในท้องตลาดปัจจุบันถึง 10 เท่า

นอกเหนือจากนี้ ชิปเซ็ต Balong 5000 ยังเป็นชิปเซ็ต 5G รุ่นแรกของโลกที่สามารถใช้งานได้กับโครงข่ายทั้งแบบที่ทำงานได้โดยอิสระ (SA) และแบบที่ต้องทำงานร่วมกับโครงข่ายอื่น (NSA) โดยโครงข่ายแบบที่ต้องทำงานร่วมกับโครงข่ายอื่นนั้น คือ โครงข่าย 5G ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมจากโครงข่าย 4G LTE ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนโครงข่ายที่ทำงานได้โดยอิสระนั้น คือ โครงข่าย 5G ที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอิงกับโครงข่ายใด ๆ ยิ่งไปกว่านี้ ชิปเซ็ต Balong 5000 ยังเป็นชิปเซ็ตที่สามารถปรับแต่งให้สอดคล้องกับผู้ใช้หรือผู้ให้บริการเครือข่ายที่มีความต้องการแตกต่างกันได้ เพื่อให้ชิปเซ็ตนี้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สอดรับกับวิวัฒนาการของการสื่อสารในยุค 5G

อีกทั้งชิปเซ็ต Balong 5000 ยังเป็นชิปเซ็ตแบบมัลติโหมดรุ่นแรกของโลกที่รองรับการสื่อสารข้อมูลตามแนวคิด Vehicle to Everything - V2X เนื่องจากชิปเซ็ตนี้มีค่าความหน่วงของการรับส่งข้อมูลต่ำและเป็นชิปเซ็ตที่หัวเว่ยพัฒนาให้เป็นโซลูชั่นสำหรับยานยนต์ยุคใหม่ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งนี้ หัวเว่ยจะนำเสนอสมาร์ทโฟน 5G รุ่นแรกของบริษัทฯ ที่จะใช้ชิปเซ็ต Balong 5000 ในงาน Mobile World Congress 2019 ณ บาร์เซโลน่า

'หัวเว่ย' เริ่มต้นการวิจัยและพัฒนาด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2009 และเป็นบริษัทเดียวในปัจจุบันที่มีอุปกรณ์โครงข่าย 5G จำหน่ายแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัจจุบัน หัวเว่ยมีวิศวกรที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาด้าน 5G จำนวน 5,700 คน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการรับส่งข้อมูลแบบ 5G จำนวน 500 คน และมีศูนย์นวัตกรรมร่วมเพื่อพัฒนาโซลูชั่น 5G 11 แห่งทั่วโลก

595959859