ดึงบิ๊กเนมดันออนไลน์ ชิงตลาดโลก!

24 ม.ค. 2562 | 04:41 น.
240162-1127

เปิดแผนพาณิชย์ดันค้าอี-คอมเมิร์ซไทยผงาด ชิงตลาดโลก 25 ล้านล้านดอลล์ ดึงบิ๊กเนมโลกแข่งช็อปสินค้า ชี้! โอกาสทองแจ้งเกิดแบรนด์ใหม่ 'เหอหม่า' เครืออาลีบาบา เล็งสั่งซื้อเพิ่มอีกกว่า 3,000 ล้าน

การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) หรือ ค้าออนไลน์ กำลังโตวันโตคืน ตามกระแสความนิยมของโลกที่หันซื้อขายสินค้ากันในช่องทางใหม่ ที่ซื้อง่าย-ขายคล่อง ส่งของรวดเร็ว ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทยในทุกระดับ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการช่วยขับเคลื่อนอี-คอมเมิร์ซไทยให้เติบโตไปข้างหน้ากับโอกาสที่ยังเปิดกว้าง

 

[caption id="attachment_378915" align="aligncenter" width="503"] อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์[/caption]

นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เพื่อสนับสนุนการค้าอี-คอมเมิร์ซไทยให้ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในและต่างประเทศ ช่องทางหนึ่ง คือ การนำผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ชื่อดังในทุกภูมิภาคของโลกเข้ามาเจรจาธุรกิจเพื่อจัดหา (ซอร์ซซิ่ง) สินค้าจากผู้ประกอบการไทยไปจำหน่ายบนเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง โดยในปลายเดือน ก.พ. นี้ กรมจะจัดงาน "ซอร์ซซิ่ง ฟอรั่ม" เชิญหลายค่ายดังของโลก ได้แก่ เครืออาลีบาบา เช่น Tmall, Hema (จีน), JD sourcing (จีน), Amazon และ eBay (สหรัฐฯ), Gosoko (แอฟริกา) ที่ตอบรับมาแล้ว และมี Coupang (เกาหลี) ที่รอคำตอบการเข้าร่วม

"การนำอี-คอมเมิร์ซระดับโลกมาซอร์ซซิ่งสินค้าไทย นับจากเดือน ก.พ. นี้เป็นต้นไป จะมีเกือบทุกเดือน ทั้งเพื่อไปจำหน่ายออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซส่วนใหญ่แจ้งมาเลยว่า สินค้าที่เขาต้องการขอให้เป็นแบรนด์ใหม่ ๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ของไทยแจ้งเกิด"

ล่าสุด กรมได้หารือกับ Hema Fresh ของเครืออาลีบาบา ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกในรูปแบบใหม่ที่รวมการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน โดย Hema (เหอหม่า) สนใจจะซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นใน 3 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย ผลไม้สด (มะม่วง ทุเรียน มังคุด ส้มโอ มะพร้าว), อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และอาหารสำเร็จรูป (ข้าว ผลไม้แปรรูปและอบแห้ง ขนมขบเคี้ยว และเครื่องปรุงรส) คาดจะมีคำสั่งซื้อจากเหอหม่าภายในปี 2562-2563 ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

 

[caption id="attachment_378913" align="aligncenter" width="500"] ดึงบิ๊กเนมดันออนไลน์ ชิงตลาดโลก! เพิ่มเพื่อน [/caption]

นางอารดายังเผยถึงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ผ่านช่องทางเว็บไซต์ Thaitrade.com ซึ่งเป็น National e-Marketplace สำหรับผู้ประกอบการไทย ผ่าน 3 แพลตฟอร์มของกรม ทั้งในรูปแบบ B2B (ธุรกิจกับธุรกิจ) B2C (ธุรกิจกับผู้บริโภค) ว่า ตั้งแต่ก่อตั้งมาปี 2554 ถึงปี 2561 มียอดซื้อขายที่มีหลักฐานแล้วรวมกว่า 6,000 ล้านบาท เฉพาะในปี 2561 มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562 ตั้งเป้าจะมีมูลค่าการซื้อเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท

"ยอดที่โตนอกจากมีการซื้อขายผ่าน Thaitrade.com แล้ว ยังจะมาจากที่ทางกรมได้ไปลงนามความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในตลาดโลก เพื่อช่วยต่อยอดให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขายสินค้าไปต่างประเทศผ่านกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งอี-มาร์เก็ตเพลสที่ทางกรมได้ลงนามเอ็มโอยูแล้วในช่วงที่ผ่านมา เช่น เครือ Alibaba, JD.com, KWG, HKTDC เป็นต้น ส่วนอี-มาร์เก็ตเพลสที่มีแผนจะลงนาม ได้แก่ Google, NetEase และ Kaola เป็นต้น ซึ่งจากมูลค่าการค้าอี-คอมเมิร์ซของโลกที่สูงกว่า 25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นโอกาสที่ยังเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกระดับ"

 

[caption id="attachment_378916" align="aligncenter" width="335"] บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ[/caption]

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่ของไทยเข้าสู่การค้าออนไลน์ปีละประมาณ 1 หมื่นราย เพื่อผลักดันการค้าออนไลน์ของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทางกรมได้มอบหมายให้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ศึกษาข้อเสนอแนะการพัฒนาแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแบบ B2B เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่ง สรท. ได้ส่งมอบผลการศึกษาข้อเสนอแนะแล้วเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา

ด้าน นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า ในปีนี้ทางสถาบันมีเป้าหมายจะพัฒนาผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนราย เพื่อทำการค้าออนไลน์และออฟไลน์ ผ่านโครงการและกิจกรรมฝึกอบรมกว่า 130 โครงการ จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้การค้า การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต


02-3437-240162-1131

……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,437 วันที่ 20 - 23 ม.ค. 2562 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดประมูลออนไลน์ ข้าวเปลือกครั้งแรกในเมืองไทย
ส่องโอกาสกระจายสินค้าไทยใน 'ซีอาน' ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ www.iesroad.com (ตอน 1)


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน