การประชุมวิชาการนานาชาติงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ครั้งที่ 3 วันที่ 17 มีนาคมนี้ ที่ RSU

14 มี.ค. 2559 | 05:50 น.
แนวโน้มโครงสร้างประชากรของประเทศไทย มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยเรื้อรังจำนวนมาก และมากขึ้นทุกปี แม้สถานพยาบาลจากภาครัฐและเอกชน จะมีการกระจายการรักษาพยาบาลอยู่ทั่วประเทศก็ตาม ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงยาเพื่อรักษาความเจ็บป่วยได้ การจะให้สถานพยาบาลทั้งหลายเป็นผู้รับภาระแต่เพียงลำพัง ก็ไม่เพียงพอที่จะสามารถทำให้ผู้ป่วยทั้งหมดเข้าถึงยาได้

ดังนั้น การทำให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นอย่างเสมอภาค ทั่วถึง และทันการณ์ ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมกับความสามารถในการจ่าย ทั้งของสังคมและประชาชน รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มผู้ป่วยให้มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยในโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง โรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ และโรคที่มีความชุกน้อยแต่จำเป็นต้องมียาใช้ในการรักษาพยาบาล

หลักการและเหตุผลที่ว่ามานี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันนานาชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขและเภสัชศาสตร์ ต่างได้ให้ความร่วมมือต่อกันในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการวิจัย การสร้างนวัตกรรมใหม่ทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมในด้านวิชาการ สาขาเภสัชศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ทันสมัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยล่าสุด คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ครั้งที่ 3(The 3 rd International Conference on Advanced Pharmaceutical Research) ในวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2559 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคาร Digital Multimedia Complex มหาวิทยาลัยรังสิต ให้แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาตรี และ/หรือ ระดับบัณฑิตศึกษา บุคคลผู้สนใจทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน

chose รศ.ดร.ภญ. นริศา คำแก่น อาจารย์หมวดวิชาเภสัชเวทและตัวยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการนานาชาติงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ของอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาระดับปริญญาตรี/ระดับบัณฑิตศึกษา และเพื่อรวบรวมบทความวิจัยในรูปแบบของเอกสารเชิงวิชาการที่เป็นที่ยอมรับ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาวิชาการและการเรียนการสอนให้อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ นับเป็นการประชุมประจำปีของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อีกประการหนึ่งด้วย

และได้เปิดเผยต่อไปว่า เนื้อหาสาระของการประชุมวิชาการนานาชาติงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ครั้งที่ 3(The 3 rd International Conference on Advanced Pharmaceutical Research) จะมีการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรรับเชิญกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย จากต่างประเทศที่มีความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และมีการนำเสนอผลงานวิจัยตามสาขาต่างๆ เช่น เภสัชกรรมอุตสาหการ ครอบคลุมเนื้อหาด้านเภสัชเวช เภสัชเคมี เทคโนโลยีเภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และบริบาลเภสัชกรรม ครอบคลุมเนื้อหาด้าน เภสัชพันธุศาสตร์ เภสัชวิทยา เภสัชกรรมคลินิก เภสัชกรรมสังคม บริหารเภสัชกิจ

สำหรับการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรรับเชิญกิตติมศักดิ์นั้น แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงเช้าเป็นการบรรยายของวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่

1)Prof.Dr. Hiroaki Kiyohara จาก Kitasato Institute for Life Sciences,Kitasato University,JAPAN ในหัวข้อว่าด้วยระบบภูมิคุ้มกัน การใช้สารประกอบเชิงซ้อนจากพืชเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย

2)Prof.Dr.Rodney Hill จาก School of Biomedical Sciences,Charles Sturt University,AUSTRALIA ในหัวข้อว่าด้วย รูปแบบเภสัชภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งยาไปถึงอวัยวะเป้าหมาย

3)Assoc.Pro.Dr.Chonlaphat Sukasem จาก Faculty of Madicine,Ramathibodi Hospital,Mahidol University,THAILAND ในหัวข้อว่าด้วย นำประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยโดยใช้เภสัชพันธุกรรม เพื่อคัดเลือกยาได้อย่างแม่นยำ สำหรับการรักษา

และในช่วงบ่าย มีการบรรยายอีก 2 ท่าน ได้แก่

1)Assoc.Prof.Dr.Leng Chee Chang จาก The Daniel K.Inouye College of Pharmacy,University of Hawai’I at Hilo,USA ในหัวข้อว่าด้วย นำผลงานวิจัยในการสกัดแยกสารสำคัญจากต้นหญ้าดอกข้าว เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย เลิกบุหรี่ ในคลินิกเลิกบุหรี่

2)Dr.Chris Oliver จาก Blackmores Institute,AUSTRALIA ในหัวข้อว่าด้วย นำประสบการณ์ที่ใช้โอเมก้า 3 ในผู้ป่วย เป็นการรักษาแบบผสมผสานระหว่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน

รศ.ดร.ภญ. นริศา กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับการประชุมครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อมุ่งมั่นให้ประชาชนได้เข้าถึงยา ใช้ยาอย่างสมเหตุผล ประเทศชาติสามารถพึ่งตัวเองได้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของชาติ นอกจากนี้ เป็นการยกระดับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติโดยผ่านการนำเสนอผลงานวิจัย ส่งมอบองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมในด้านวิชาการ สาขาเภสัชศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ทันสมัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพได้ อีกทั้งได้เครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด สร้างนวัตกรรมใหม่ทางวิชาการ รวมถึงความร่วมมือในการดำเนินการวิจัย การแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาในการทำวิจัยร่วมกันในอนาคต เภสัชกรผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้รับความรู้ด้านงานวิจัยเภสัชศาสตร์ที่ทันสมัย และได้รับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง(CPE)จำนวน 5.5 หน่วยกิต อีกด้วย