คำทำนายเชิงประวัติศาสตร์ "เลือกตั้ง 2562" อะไรจะเกิดขึ้น

23 ม.ค. 2562 | 09:00 น.
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตที่ปรึกษาในคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นและตอบคำถามยอดฮิตทางการเมือง พร้อมให้แง่คิดและย้อนรอยประวัติศาสตร์การเมือง การเลือกตั้งเทียบเคียงกับการเมืองในยุคปัจจุบันอย่างน่าสนใจ โดยได้แสดงความเห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2561 จนถึงปัจจุบัน

" ...

(ตอนที่ 1 วันที่ 26 ธ.ค. 61)

สวัสดีวันพุธ ที่ 26 ธันวาคม 2561 ครับ

ผมตัดสินใจกลับมาเขียนข้อคิดเห็นลง Facebook อีกครั้ง เพราะหมู่นี้ไปไหน พบใคร ก็จะมีการถามผมว่า เมื่อจะมีการเลือกตั้งปีหน้า คือ กุมภาพันธ์ 2562 อะไรจะเกิดขึ้น ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง คงเพราะเห็นผมมีชีวิตผ่านการเมืองที่มี/ไม่มี การเลือกตั้งมาหลายทศวรรษ เลยคิดว่าให้ความเห็นที่แชร์กันได้มาก ๆ อาจเป็นประโยชน์

ท่านใดสนใจ ติดตามอ่านได้ครับ เพราะจะมีหลายตอน ซึ่งก็เพราะมีหลายคำถาม


คำถามที่ผมถูกถามมาก คือ

- พรรคไหนจะชนะเลือกตั้ง?

- พรรค / กลุ่มการเมืองไหน จะได้จัดตั้งรัฐบาล?

- ใครจะเป็น นรม. – นายกรัฐมนตรี?

- รัฐบาลใหม่จะบริหารประเทศอย่างไร?

- แล้วรัฐบาล – นรม. จะอยู่ได้นานไหม?

- เศรษฐกิจ / การเมือง 2562 จะเป็นอย่างไร?


และยังมีคำถามอื่นอีกมากมาย ถ้าท่านผู้อ่านจะเพิ่มคำถามก็ได้ครับ ผมจะวิเคราะห์ / ตอบคำถาม โดยอ้างอิงเหตุการณ์ในอดีตเป็นสำคัญ เพราะผมดูเหตุการณ์ ปรากฎการณ์วันนี้ นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่คล้ายกัน ซึ่งนำมาใช้เป็นบทเรียนได้ อาจเป็นประโยชน์ในการที่ท่านจะตัดสินใจว่า จะเลือกใคร พรรคไหน ให้เป็นผู้แทนของท่าน หรือไม่เลือกใครเลย เพราะอาจคิดว่า เลือกไปก็เท่านั้น ??

วันนี้ขอเป็นเรื่องผลการเลือกตั้งก่อน เดาได้เลยว่าจะคล้ายกับตอนเลือกตั้งปี 2522 คือ เกือบ 40 ปีมาแล้ว ท่านผู้อ่านคงร้องโอ้โฮ เราถอยไปนานขนาดนั้นเชียวหรือ และอาจไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้ ก็ไม่ว่ากัน

เมื่อตอนปี 2522 เราผ่านการปฏิวัติมา 2 ครั้ง คือ ในปี 2519 ตอนนั้นเรามีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดรัฐประหาร นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ แล้วได้ ครม. มี นรม. คือ ท่านอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร มีคุณสมัคร สุนทรเวช เป็น รมต.สำคัญ บอกจะบริหาร /ปฏิรูปประเทศใน 12 ปี อยู่ได้ปีเดียว ก็เกิดรัฐประหารอีกในปี 2520 โดยคณะของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (หัวหน้าคณะรัฐประหารในนาม คือ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่) แต่กำลังที่แท้จริงคือ จปร.รุ่น 7 เจ้าของตำนาน Young Turk ของ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มี พ.อ. จำลอง ศรีเมือง พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ.มนูญ รูปขจร อยู่กลุ่มนี้

รัฐประหารเสร็จ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็น นรม. เริ่มเตรียมการเลือกตั้ง โดยมีการร่าง รธน. มีอาจารย์ สมภพ โหตระกิตย์ เป็นประธาน อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นเลขา รูปแบบก็คือ ส.ส. มาจากเลือกตั้ง 301 คน (จำนวนคนตาม จำนวนเขต) สว. แต่งตั้ง 225 คน (ไม่เกินสามในสี่ของจำนวน สส.) เห็นไหมครับ รธน.ปี 2521 คล้าย รธน.ปี 2560 ไหมครับ

การเลือกตั้งตาม รธน. 2521 เกิดขึ้นวันที่ 22 เมษายน 2522 ก่อนเลือกตั้ง ก็มีการเตรียมการจัดตั้งพรรค/กลุ่มการเมือง โดย รธน. 2521 ไม่มี พรบ.พรรคการเมือง คือ เป็นกลุ่มก็ได้ เจตนาคงต้องการให้คนมีทางเลือกมากกว่าจะไปเลือกพรรคใหญ่ (สกัดพรรคใหญ่?) ตอนนั้นพรรคใหญ่ ก็คือ ประชาธิปัตย์ (มรว.เสนีย์) กิจสังคม (มรว.คึกฤทธิ์) ชาติไทย (คุณประมาณ อดิเรกสาร) แล้วก็มีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นใหม่ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าสนับสนุน พล.อ. เกรียงศักดิ์ คือ กลุ่มเสรีธรรม ก็ไปรวบรวม/ดูด นักการเมืองมาเป็นสมาชิก ดูแล้วเหมือนพรรคพลังประชารัฐไหมครับ แล้วยังมีกลุ่มเล็ก กลุ่มจิ๋ว ที่เชียร์รัฐบาลอีกหลายกลุ่ม

ผลการเลือกตั้ง คือ

- กิจสังคม 88 ที่นั่ง

- ชาติไทย 42

- ประชาธิปัตย์ 35

- ประชากรไทย 32

- เสรีธรรม 22

- ชาติประชาชน 13

- ที่เหลือเป็นพรรค/กลุ่มการเมืองอื่นๆ รวมถึงผู้สมัครอิสระ


ผลอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.กทม. หนึ่งคนเท่านั้น (จากที่เคยได้ทั้งหมด) คือ ดร.ถนัด คอมันตร์ และทั้งประเทศเคยได้ 114 คน ในปี 2519 เหลือเพียง 35 คน ส่วนประชากรไทย ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ โดยคุณสมัคร สุนทรเวช ได้ ส.ส. กทม. ถึง 29 คน

จากผลการเลือกตั้งนี้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ได้รับการเสนอชื่อเป็น นรม. เมื่อ 12 พฤษภาคม 2522 ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค/กลุ่มการเมืองใดเลยๆ (เหมือน รธน. 2560 อีกแล้ว?) ขณะที่กลุ่มเสรีธรรม ที่ประกาศตัวว่าสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็มี สส. เพียง 22 คน (แต่มี สว.แต่งตั้งอยู่ถึง 225 คน) และมีพรรค/กลุ่มการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล คือ ชาติไทย เกษตรสังคม กิจประชาธิปไตย ชาติประชาชน รวมไทย และ สส.ที่ไม่สังกัดกลุ่มใด ซึ่งบางกลุ่มการเมืองตอนหาเสียงก็บอกว่าจะไม่เอาทหาร ไม่เอาเผด็จการ พรรคใหญ่คือ กิจสังคม และ ประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน

ทำไมผลการเลือกตั้งจึงเป็นเช่นนี้ และอะไรเกิดขึ้น หลัง พล.อ. เกรียงศักดิ์ เป็น นรม. ติดตามได้ตอนหน้า และตอนต่อ ๆ ไปครับ

..."
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว