‘SMEs’ฝากการบ้านรัฐ เน้นเข้าถึงสินเชื่อ-สนับสนุนการค้า

25 ม.ค. 2562 | 07:21 น.
กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสานเสียงฝากถึงภาครัฐ ชี้ต้องการให้มีสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีที่เข้าถึงง่าย พร้อมปรับปรุงกฎหมายแรงงานเพื่อรายเล็ก สนับสนุนเทคโนโลยีด้านการผลิต และอัพเดตกฎหมายให้ทันต่อกระแสโลก
ก้าวเข้าสู่ปี 2562 กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางจนถึงขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และต้องการยกระดับธุรกิจเพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญก็คือมาตรการที่ออกมาให้การสนับสนุนอย่างตรงจุด

นายฉัตรชัย โพธิ์วสิน ที่ปรึกษา บริษัท โรสอารยา ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทยส่งออกภายใต้แบรนด์ “ใบสลาด” กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนในปีนี้คือเรื่องของแหล่งเงินทุน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายที่มีขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แม้ว่าจะมีโครงการเพื่อเข้ามาช่วยเหลือ แต่เมื่อถึงเวลาจริงผู้ที่ได้รับสินเชื่อกลับกลายเป็นรายที่มีขนาดกลาง และขนาดใหญ่ หรือรายที่มีเส้นสาย

“ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากโครงการสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1% ซึ่งมีวงเงิน 30 ล้านบาท และ 15 ล้านบาท เอสเอ็มอีรายเล็กไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะฉะนั้นเรื่องที่อยากนำเสนอให้รัฐบาลออกนโยบายช่วยเหลือในลำดับแรกก็คือเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีรายเล็กอย่างแท้จริง” 76329118_xxl

นอกจากนี้ ยังต้องการให้สนับสนุนเรื่องของกฎหมายแรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมาซึ่งมีการเปิดให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้เอสเอ็มอีขนาดเล็กขาดแคลนแรงงานในการทำธุรกิจ เพราะเมื่อเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมายก็มีการย้ายงานไปอยู่โรงงานขนาดใหญ่ ขณะที่ข้อตกลง (MOU) ที่ระบุว่าจะต้องมีการจ้างงาน 10 คนขึ้นไป และมีเงินเดือนให้รายละ 7,000-10,000 บาทนั้น หากเป็นเอสเอ็มอีรายเล็กก็คงจะไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ไหว และต้องหันไปใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายเข้ามาตามเดิม TP8-3438-A

“ปัญหาดังกล่าวนี้ถือเป็นปัญหาโลกแตก ดังนั้น จึงมองว่ารัฐน่าจะทำ MOU ที่ชัดเจนเพื่อเอสเอ็มอีรายเล็ก เนื่องจากเอสเอ็มอีรายใหญ่เมื่อเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย ก็จะไม่ว่าจ้าง แต่เมื่อถูกกฎหมายก็มาดึงแรงงานไปหมด เพราะฉะนั้นจึงควรมีกฎหมายทางด้านแรงงานเพื่อเอสเอ็มอีรายเล็กบ้าง”

นางสาวเฉลิมพรรณ วร-พิทย์พงศ์ กรรมการ และฝ่ายการตลาด บริษัท ธนาสิริวัฒน์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไก่แท่งอบกรอบแบรนด์ “ทีเด็ดฮ่องเต้” (T-DED HONGTAE) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 4.0 ดังนั้น สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนก็คือเรื่องของเทคโนโลยีในการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดโลกต่างก็มีเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาใช้ในการผลิต แต่เอสเอ็มอีไทยยังขาดความรู้ และไม่มีเทคโนโลยี ทำให้เสียเปรียบทางการแข่งขัน หากรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนทางด้านดังกล่าวก็จะช่วยทำให้การผลิตดีขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ขณะที่อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องข้อกีดกันทางการค้า ซึ่งมีอยู่ทุกประเทศ หากภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน และปรับปรุงข้อตกลงให้สามารถส่งออกได้ง่ายขึ้น เชื่อว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และช่วยให้เอสเอ็มอีรายย่อยสามารถทำตลาดส่งออกได้ด้วย

Beautiful Asian girl celebrate with laptop, success pose, education or technology or startup business concept, with copy space

นางสาวชัชณี พฤกษ์ศลานันท์ ผู้จัดการสายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ครอสแม็กซ์ รีเทล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนมสดพาสเจอไรซ์โปรตีนสูงแบรนด์ (HoorayBetter Shake) กล่าวว่า สินเชื่อสามารถช่วยสนับสนุนธุรกิจของเอสเอ็มอีได้มาก แต่ที่ผ่านมาการเข้าถึงสินเชื่อเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อเอสเอ็มอีเท่าใดนัก ดังนั้น จึงต้องการให้ภาครัฐมีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเข้าถึงให้สะดวกมากขึ้น หรือเรียกว่าทำเพื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ

เช่นเดียวกับเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งกฎหมายในประเทศไม่ค่อยมีการอัพเดตให้เข้ากับกระแสของโลก เช่นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น ทั้งที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งเอสเอ็มอีจะสามารถแข่งขันในตลาดได้ต้องอยู่ในกระแสของตลาด แต่หากข้อกฎหมายไม่มีการอัพเดตตามกระแสของโลกก็จะเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน และการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3438 วันที่ 24-26 มกราคม 2562

090861-1927-9-335x503-8-335x503-9-2-335x503